รีเซต

รู้จัก ภาวะ “Long Covid” หายป่วยโควิด-19 แล้ว แต่ยังไม่หายดี

รู้จัก ภาวะ “Long Covid” หายป่วยโควิด-19 แล้ว แต่ยังไม่หายดี
Ingonn
29 เมษายน 2564 ( 16:31 )
2.2K

รู้หรือไม่ว่าผู้ป่วยโควิด-19 นั้น เมื่อหายป่วยแล้ว อาจยังคงมีอาการบางอย่างตามหลังมาทั้งต่อร่างกายและจิตใจเป็นเวลานานได้ถึงปี เนื่องจากการป่วยโควิด-19 ส่งผลกระทบกับระบบการทำงานในร่างกายทุกส่วน ทำให้หลังจากรักษาเรียบร้อย จะยังไม่กลับมาปกติ 100 % หรือที่เรียกว่า ภาวะ “Long Covid”

 

 

 

Long Covid คืออะไร


ในต่างประเทศมีการพูดถึง “Long COVID”  หรือ ผลตามหลังระยะเฉียบพลันของโควิด-19  หรือเรียกอีกอย่างว่า ผลกระทบระยะยาวของโควิด-19 คือ ภาวะที่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วย แล้วยังมีอาการอยู่ อาจทำให้ร่างกายมีอาการไปอีกหลายสัปดาห์ หรืออาจจะนานเป็นเดือนๆ เนื่องจากแต่ละคนตอบสนองต่อเชื้อโควิดไม่เท่ากัน

 

ผู้ป่วยที่มีอาการโควิด-19 เป็นระยะเวลานานๆ ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยคนนั้นจะมีอาการแรกเริ่มที่หนักกว่าคนอื่นเสมอไป ผู้ป่วยที่เริ่มแรกมีอาการไม่มาก แต่ไปๆ มาๆ มีอาการเรื่อยๆ ไม่หายสักที ก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน

 

 

แบ่งกลุ่มอาการ 3 ระยะ

เอกสารจากประเทศอังกฤษ NICE (the National Institute for Health and Care Excellence) แบ่งกลุ่มอาการต่างๆ ออกเป็นสามระยะด้วยกัน

 

ระยะแรก เป็นการติดเชื้อและมีอาการของ โควิด-19 อยู่ถึง 4 สัปดาห์ (acute COVID-19) 


ระยะที่สอง ยังคงมีอาการอยู่ต่อเนื่องจากสี่ถึง 12 สัปดาห์ (ongoing symptomatic COVID-19) 


ระยะที่สาม มีอาการที่เกิดขึ้นระหว่างที่ติดเชื้อหรือหลังจากการติดเชื้อ ที่เข้ากันได้กับโควิด-19 โดยยังคงมีอาการต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์ ทั้งนี้โดยที่ไม่สามารถอธิบายได้จากโรคอื่น

 

ในประเทศอังกฤษเองจากการประเมินผู้ป่วย 186,000 ราย พบว่าหนึ่งในห้าจะมีอาการต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์และ 9.9% จะยังคงมีอาการอยู่หลังจาก 12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่อ่อนเพลีย ไอและปวดหัว

 


กลุ่มเสี่ยงเป็น Long Covid


ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน Covid Symptom Study พบว่า คนสูงอายุและผู้หญิง คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรกของอาการป่วยโควิด-19 พบมากถึง 5 อาการ และบางรายมากกว่านั้น รวมถึงบางรายมีสภาวะหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ โรคหอบ หืด หรือโรคเบาหวาน


ประมาณ 10% ของคนอายุ 18-49 ปีที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้รับผลกระทบ Long Covid และอีก 22% ของคนอายุมากกว่า 70 ปีก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน


ขณะเดียวกันจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 50 ปี มีผลลัพธ์ทางสุขภาพอันเป็นผลมาจากโควิด-19 ในระยะยาว โดยจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่ออกจากโรงพยาบาล 327 ราย เห็นได้ว่า 7 เดือนหลังจากนั้น ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ได้น้อยกว่าผู้ชายที่มีอายุเท่ากัน ถึง 5 เท่า

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบอีกว่า กลุ่มคนที่มีอาการโรคหอบ/หืด มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะพัฒนาเป็น Long Covid ในอนาคต หมายความว่า สภาวะสุขภาพดั้งเดิมของผู้ป่วยโควิด-19 มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของระยะเวลาอาการต่อเนื่องในอนาคต

 


อาการ Long Covid


1.เหนื่อยล้ามากกว่าปกติ


2.หายใจสั้นลง หายใจถี่ขึ้น


3.แน่นหน้าอก


4.มีปัญหาเกี่ยวกับการจำ และไม่ค่อยมีสมาธิ (brain fog)


5.หลับยาก (นอนไม่หลับ)


6.หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ


7.มึนงง เวียนศีรษะ


8.มีอาการเหน็บชา


9.ไม่ได้กลิ่น


10.ปวดตามข้อต่อต่างๆ


11.หูอื้อ ปวดหู


12.มีอาการป่วย เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง อยากอาหารน้อยลง


13.มีไข้ ไอ ปวดศีรษะ เจ็บคอ รับรู้รสชาติและกลิ่นเปลี่ยนไป


14.มีผื่นขึ้น


15.ท้องร่วง และอาเจียนเป็นคราว ๆ

 

 

ผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ในภาวะ Long Covid


ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 มักพบว่าอวัยวะหลายส่วนที่ความผิดปกติ เช่น หัวใจ ปอด ไต ผิวหนัง รวมไปถึงสมอง โดยในผู้ป่วยโควิด-19 อาจพบภาวะว่าที่เรียกว่า “กลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ” หรือ multisystem inflammatory syndrome (MIS) หมายถึงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมีอาการบวมอักเสบ จากการที่ระบบภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายทำงานผิดพลาด เข้าไปต่อสู้กับเซลล์ดี จึงทำให้เกิดอาการบวมอักเสบในส่วนของร่างกายต่างๆ หรือ ‘แพ้ภูมิตัวเอง’ โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ถ่ายเหลว ไตวาย ช็อก หลังป่วยเป็นโควิด-19 และหายแล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์ ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าภาวะแทรกซ้อนในระบบต่างๆ จะสามารถพบได้นานกี่เดือน


ทั้งนี้เข้ากันได้กับรายงานการศึกษาจากหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและมีอาการทั้งที่อาการไม่มาก หายเองหรือมีอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาล เมื่อหายแล้วนอกจากจะพบว่าอวัยวะที่ถูกกระทบจะมีบางส่วนถูกทำลายถาวร เช่น ปอดบวม แม้เมื่อหายแล้ว จะมีบางส่วนถูกทำลายไป มากน้อยขึ้นอยู่กับการรักษาเร็วหรือช้า และประสบผลสำเร็จในการกำจัดไวรัส และป้องกันไม่ให้ไวรัสจุดชนวนปะทุให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงในอวัยวะต่างๆ หรือไม่
 

 

 

ผลข้างเคียงจากการรักษาโควิด-19


บางอาการอาจคล้ายกับผลข้างเคียงจากการนอนโรงพยาบาลนานด้วยโรคอื่น ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงมักต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต / ICU เมื่อพ้นระยะวิกฤตมาแล้วจะเกิดภาวะ ‘หลัง ICU’ (Post-intensive Care Syndrome: PICS) เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู
 

 


การรักษาภาวะ Long Covid


ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกในการจัดการหรือรักษาอาการและอาจจะเป็นคลินิกดูแลผู้ป่วยหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เพื่อติดตามอาการของผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว 

 

นอกจากนั้นการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 จึงเป็นวิธีที่ดีสุด โดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงหรืออยู่รวมกันในที่แออัด รวมถึงรีบเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยง เพื่อการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที

 

 

 

 

ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต , วิกิพีเดีย , เฟซบุ๊กนพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา , ไทยรัฐ , thestandard

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง