รีเซต

"อิฐสละ" วัสดุจากวัชพืช โดยนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ I TNN Tech Reports

"อิฐสละ" วัสดุจากวัชพืช โดยนักนวัตกรรมรุ่นใหม่  I TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
9 เมษายน 2566 ( 15:55 )
108



ปัจจุบันการผลิตชิ้นงานหรือการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ มีหนึ่งสิ่งที่นักประดิษฐ์และนักออกแบบทั่วโลกจะต้องคำนึงถึง คือต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีส่วนประกอบมาจากวัสดุธรรมชาติหรือเป็นการรีไซเคิลจากขยะที่ย่อยสลายยาก ซึ่งในประเทศไทยเองก็ไม่ตกเทรนด์ มีการผลิตชิ้นงานที่มีแนวคิดในลักษณะนี้ออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อิฐมวลเบาจากแกนกัญชง รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์จากเศษซองขยะ ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นสินค้าที่ถูกวางจำหน่ายแล้วในท้องตลาด


และนวัตกรรมล่าสุดในบทความนี้เป็นผลงานที่มาจากน้อง ๆ โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา เป็นการนำวัชพืชอย่าง "ผักตบชวา" พืชที่ทำลายระบบนิเวศในน้ำ และเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเพราะขวางทางระบายน้ำ มาต่อยอดโดยใช้หลักคิดทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับไอเดีย เปลี่ยนวัชพืชให้กลายเป็นสิ่งของที่มีมูลค่า ให้กลายมาเป็น “อิฐสละ” ก้อนอิฐจากผักตบชวา 



"อิฐสละ" คืออะไร ?


คำว่าอิฐสละ อิฐมาจากอิฐ สละมาจากการที่สละตัวเองที่ไม่เป็นประโยชน์ให้มาเกิดประโยชน์ ถูกคิดขึ้นจากหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณโรงเรียน คือ ผักตบชวา ที่ส่งผลกระทบในพื้นที่แหล่งน้ำของโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง จึงมีการคิดค้นวิธีการที่จะกำจัดผักตบชวา และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า


จุดเด่นของอิฐสละ นอกจากนี้จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา และหลังจากการคำนวณต้นทุนแล้ว พบว่าราคาประหยัดกว่าอิฐประเภทอื่นในท้องตลาด ที่สำคัญยังสามารถกันความร้อนได้ดี ซึ่งจากการทดสอบในเรื่องของฉนวนกันความร้อน เป็นรองแค่อิฐมวลเบาเท่านั้น



โดยวิธีการทดสอบ ผู้พัฒนาเล่าให้ฟังว่า "อิฐสละเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีซึ่งเราจะทดสอบโดยให้ความร้อน 10 15 และ 20 นาทีโดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิด้วยอินฟราเรด จากการเปรียบเทียบอิฐมวลเบาเป็นอิฐที่มีฉนวนกันความร้อนได้ดีที่สุดรองลงมาคืออิฐสละ ส่วนอันดับสามคืออิฐบล็อก ระดับสุดท้ายคืออิฐทางเดิน อิฐสละสามารถลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก ถ้าเทียบกับหนึ่งตารางเมตรอิฐมวลเบาจะอยู่ในราคา 240 บาท อิฐบล็อกจะอยู่ในราคา 84 บาท อิฐทางเดินจะอยู่ราคา 300 บาท และอิฐสละอยู่ในราคา 200 บาท"


"อิฐสละ" สร้างขึ้นมาได้อย่างไร ?


กระบวนการสร้างอิฐสละ นี้เริ้มตั้งแต่นำผักตบชวาไปหั่นเป็นแว่นขนาด 1 เซนติเมตร แล้วนำไปใส่ในเครื่องปั่นพร้อมกับน้ำเปล่า ก็จะกลายเป็นกากใยของผักตบชวา จากนั้นก็นำมากรองด้วยผ้าขาวบาง และนำกากที่ได้ไปตากให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วนำไปผสมกับ หินฝุ่น ทราย ปูนพอร์ตแลนด์ และน้ำ คลุกเคล้าจนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นก็เทลงบล็อกที่เตรียมไว้ แล้วนำบล็อกไปตากจนแห้งสนิท เท่านี้ เราก็จะได้ก้อนอิฐจากวัชพืช หรือ "อิฐสละ" แล้ว 



ผลงานของน้อง ๆ จากโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา สะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ของการศึกษาปัจจุบัน ที่ไม่ได้เน้นเฉพาะทฤษฎี แต่ผู้เรียนได้ลงมือทำจริง โดยเฉพาะการใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ  ซึ่งไม่ได้ยืนยันจากวัสดุที่ใช้ได้จริงภายในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังได้รับการการันตีจาก สมศ. หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ในระดับ "ดีเยี่ยม"


ข้อจำกัดของ "อิฐสละ"


ถึงแม้ว่าอิฐจากผักตบชวาจะเต็มไปด้วยคุณสมบัติและประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. ซึ่งทางโรงเรียนอยู่ระหว่างพัฒนาในเรื่องนี้ เพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับผลงาน 




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง