รีเซต

AutoTech เมื่อเทคโนโลยีทำหน้าที่เป็นคนขับสำรอง

AutoTech เมื่อเทคโนโลยีทำหน้าที่เป็นคนขับสำรอง
Tech By True Digital
13 ธันวาคม 2564 ( 00:01 )
321
AutoTech เมื่อเทคโนโลยีทำหน้าที่เป็นคนขับสำรอง

พัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นอยู่คู่กันมาโดยตลอด มีหลากหลายเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนายานยนต์ให้ก้าวไกลไปมากกว่าแค่การเป็นพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งคนและสิ่งของไปยังจุดหมาย ตลาดยานยนต์สมัยใหม่จึงเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ และเพื่อเป็นทางเลือกให้กับโลกและสิ่งแวดล้อมอย่างยืน Tech By True Digital ตอนนี้จะพาไปทำความรู้จักตัวอย่างของเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ขับขี่และโลกใบนี้อย่างแท้จริง 

 

  • รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) 

รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV (Electric Vehicle)  คือ รถยนต์ที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนด้วยแรงบิดของมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้แบบสันดาป โดยรถยนต์ EV จะใช้พลังจากไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จได้อย่างสม่ำเสมอหรืออุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบอื่น ๆ แทนการใช้มันน้ำหรือพลังงานอื่น ๆ และเพราะไม่ต้องใช้การจุดระเบิดเผาไหม้ในการขับเคลื่อน ทำให้เครื่องยนต์เงียบ และไม่มีไอเสียจากการเผาผลาญพลังงาน จึงไม่สร้างมลภาวะให้แก่โลกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบรนด์ EQ-Electric Intelligence จาก Mercedes-Benz

ที่มา: https://www.mercedes-benz.co.th/

 

สำหรับเมืองไทย รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าถูกพูดถึงมากขึ้นในระยะหลังมานี้ โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบ 100% หรือรถยนต์ EV หลังจากก่อนหน้านี้เราคุ้นเคยกับรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle หรือ HEV) หรือรถยนต์ที่มีการทำงานแบบผสมโดยใช้ทั้งน้ำมันและพลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle หรือ PHEV) หรือรถยนต์แบบไฮบริดแต่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้จากภายนอกได้ มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว รถยนต์ไฟฟ้า EV จึงมีบทบาทมากขึ้นในแง่ของการเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายทยอยเปิดตัวรถยนต์ EV มากขึ้น บางแบรนด์ถึงกับประกาศว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าในทุกประเภทของรถยนต์ที่ตนผลิต 

 

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ขณะทำการชาร์จไฟ จาก Tesla

ที่มา: https://www.motorexpo.co.th/




เมื่อการแข่งขันของค่ายรถยนต์สูงขึ้น ต้นทุนการผลิตจึงต่ำลง ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่เคยสูงในอดีตจึงถูกลงและเอื้อมถึงได้  ประกอบกับเริ่มมีการทำระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ ในขณะที่รัฐบาลไทยเริ่มส่งสัญญาณในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2036 การลดภาษีนำเข้าและตั้งกองทุนพิเศษเพื่อช่วยอุดหนุนราคารถ EV อีก 20% จากราคาเต็ม

 

MEA EV Charging Station จากการไฟฟ้านครหลวง

ที่มา: https://www.mea.or.th/



ในขณะที่ผลการศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ของ PwC บริษัทตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาระดับโลก คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ยอดขายรถยนต์ใหม่ในยุโรปกว่า 55% จะเป็นรถยนต์ EV ในขณะที่สัดส่วนรถใหม่ในตลาดที่เหลือนั้นจะเป็นรถยนต์แบบไฮบริด นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าไม่ใช่แค่เทรนด์แต่ก้าวไปสู่การเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ 

 

  • เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) 

คือ รถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยคนควบคุม โดยสมาคมวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติ (Society of Automotive Engineers หรือ SAE) ได้จัดระดับความสามารถของยานยนต์ไร้คนขับไว้ 6 ระดับด้วยกัน โดยในระดับ 0 - 2 ที่พบได้ในระบบอัตโนมัติของ Tesla และระบบ Cadillac Cruise ของ GM นั้น ยังเป็นระบบที่ต้องมีมนุษย์ควบคุมอยู่ภายในรถยนต์ และระดับ 3-5 (Full Automation) เป็นรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนบนท้องถนนได้เองในทุกสภาวะและมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเหมือนมนุษย์ทุกประการ 

 

รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ จาก Tesla

ที่มา: https://www.nytimes.com/

 

ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากในโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมาที่มีการนำยานยนต์ไร้คนขับเข้ามาใช้อำนวยความสะดวกในการจัดงาน ได้แก่ ยานยนต์ไร้คนขับระดับ 3 หรือ Conditional Automation ที่ไม่ต้องใช้มนุษย์ในการควบคุม ยกเว้นสถานการณ์ฉุกเฉิน มีให้เห็นในรถบัสบริการรับส่งผู้โดยสารภายในสนามบินของสายการบิน All Nippon Airways (ANA) และ ยานยนต์ไร้คนขับระดับ 4 (High Automation) ที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินบนเส้นทางที่กำหนดได้ ใช้งานในรถบริการระหว่างสนามบินกับสนามแข่งขันกีฬาและรถ e-Palette รับส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ภายในหมู่บ้านนักกีฬา เป็นต้น

 

รถ e-Palette ขับเคลื่อนไร้คนขับระดับ 4 รับส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ในโอลิมปิก 2020

ที่มา: https://global.toyota/



เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับประกอบไปด้วยเทคโนโลยี 4 ส่วน ที่เปรียบเสมือนอวัยวะในร่างกายมนุษย์ คือ 

1) Computer Vision เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับรถยนต์ ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเมื่อรถถูกขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ 

2) Deep Learning เปรียบเสมือนสมองที่ทำให้ระบบของยานยนต์อัตโนมัติตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เป็นการประมวลผลที่รับข้อมูลมาจาก Computer Vision อีกทอดหนึ่ง 

3) Robotic เปรียบเสมือนเส้นประสาทที่เชื่อมต่อระบบประมวลผลส่วนกลางเข้ากับระบบเครื่องยนต์กลไลต่าง ๆ ในตัวรถ และ 

4) Navigation ระบบแผนที่เพื่อระบุตำแหน่งของรถจากดาวเทียมเมื่อขับเคลื่อนอัตโนมัติ และระบบแผนที่เสมือนจริงที่เก็บรวบรวมข้อมูลในคลังข้อมูลดิจิทัล โดยเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการวิ่งของรถบนถนน อาทิ ตำแหน่งไฟจราจร ตำแหน่งทางม้าลาย ป้ายสัญญาณห้ามเลี้ยว ความกว้างของถนน รวมถึงความเร็วสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตให้รถวิ่งได้ในถนนแต่ละเส้น เป็นต้น โดยรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะใช้ระบบแผนที่ซึ่งประมวลผลร่วมกับระบบ Sensor เพื่อเพิ่มความถูกต้องและแม่นยำในการตัดสินใจของรถยนต์

 

แม้จะยังมีข้อกังขาเรื่องความปลอดภัยและการยอมรับจากผู้ใช้รถใช้ถนน แต่เทคโนโลยีนี้ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับผลการศึกษาจาก PwC ฉบับเดียวกันที่คาดการณ์แนวโน้มการขับขี่รถยนต์ในยุโรปไว้ว่า ภายในปี 2030 ระยะทางสะสมของการขับขี่ทั้งหมดจะมาจากยานยนต์ไร้คนขับถึง 40% เนื่องจากผู้คนให้การยอมรับมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีนี้ยังตอบโจทย์การลดอุบัติเหตุในท้องถนนที่มีสาเหตุจากมนุษย์ เช่น ความไม่พร้อมในการขับขี่ ข้อจำกัดของร่างกายในผู้ขับขี่ เช่น ผู้สูงวัย คนพิการ หรือเป็นตัวเลือกในการเดินทางสำหรับคนที่ไม่สามารถขับรถได้ รวมถึงมีความเชื่อว่าการขับเคลื่อนอัตโนมัติจะช่วยให้รถทุกคันสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างเป็นระเบียบ ปฏิบัติตามกฎจราจร ลดระยะเวลาในการเดินทาง จึงลดปัญหาการจราจรติดขัดได้อีกด้วย 

 

  • ระบบแทรกแซงผู้ขับ (Driver Override System) 

การทำงานของระบบนี้ตรงตัวกับชื่อของเทคโนโลยี นั่นคือการแทรกแซงการขับรถของผู้ขับขี่เมื่อระบบตรวจพบว่าการขับขี่ ณ เวลานั้นอาจเสี่ยงต่ออันตรายบนท้องถนนหรือเกิดอุบัติเหตุได้ โดยระบบนี้เป็นระบบที่คล้ายกับระบบยานยนต์ไร้คนขับแต่จะทำงานโดยอัตโนมัติก็ต่อเมื่อระบบตรวจพบว่าผู้ขับขี่กำลังตัดสินใจผิดพลาดหรือมีแนวโน้มจะเกิดอุบัติเหตุ ระบบจะเข้าไปแทรกแซงการขับขี่ทันที เช่น เมื่อผู้ขับเหยียบคันเร่งด้วยความเร็วสูงจนเซนเซอร์ป้องกันการชนตรวจจับเป้าหมายหน้ารถได้ว่ากำลังเข้าใกล้รถอีกคัน ก็จะส่งข้อมูลไปสั่งงานให้ระบบเบรกทำงานทันทีแม้ว่าผู้ขับจะกำลังเหยียบคันเร่งอยู่ก็ตาม จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนได้เป็นอย่างดี 

 

  • ระบบตรวจวัดสุขภาพของผู้ขับ (Active Health Monitoring System) 

เป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อตรวจสอบสุขภาพของผู้ขับ โดยเป็นการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับสัญญาณข้อมูลสุขภาพของผู้ขับ เข้ากับสายเข็มขัดนิรภัย เบาะที่นั่ง หรือพวงมาลัย เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดจังหวะการหายใจ หรือตรวจจับความผิดปกติของสัญญาณชีพและร่างกายส่วนอื่น ๆ  แล้วส่งข้อมูลกลับไปยังศูนย์ข้อมูลหากพบความผิดปกติของร่างกายคนขับ เช่น มีอาการเหนื่อยมากหรือหัวใจวาย ระบบอัตโนมัติก็จะสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาลหรือหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินเพื่อเข้าทำการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที หรือหากทำงานร่วมกับระบบขับขี่แบบไร้คนขับอัตโนมัติก็สามารถช่วยนำรถเข้าข้างทางได้ปลอดภัย หรือช่วยพารถไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอีกด้วย

 

ระบบแจ้งเตือนการขับขี่เพื่อเตือนผู้ขับขี่ว่าถึงเวลาที่ควรหยุดพักแล้ว จาก Ford

ที่มา: https://www.ford.com/



  • ระบบแสดงผลบนกระจกหน้ารถแบบ Active (Active Window Display) 

หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Head-up Display (HUD) เทคโนโลยีนี้มาพร้อมกับ Augmented Reality หรือ AR โดยระบบแสดงผลบนกระจกหน้ารถแบบ Active เป็นการแสดงข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ขับขี่บนกระจกหน้ารถ แสดงผลแบบโปร่งใส มองเห็นได้จากที่นั่งคนขับเท่านั้น โดยออกแบบให้มองเห็นพอดีกับสายตาขณะขับขี่บนท้องถนนโดยไม่บดบังทัศนวิสัย ประโยชน์ของจอแสดงผลบนกระจกหน้ารถยนต์ก็เพื่อให้สายตาของผู้ขับขี่อยู่บนท้องถนน ไม่ก้มหรือละสายตาเพื่อมองข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือหรือจอแสดงผลที่ติดมากับรถ ที่มักเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 

 

สำหรับข้อมูลที่แสดงก็จะแตกต่างออกไปตามที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ตั้งค่าไว้ อาทิ มาตรวัดความเร็ว รอบเครื่องยนต์ แผนที่นำทาง หรือบางครั้งแสดงเป็นสัญลักษณ์ที่ลอยขึ้นมาเพื่อเตือนเมื่อขับซ้อนทับช่องจราจร หรือแสดงเป็นแถบสีของระยะรถยนต์คันหน้า เตือนจุดบอดหรือทัศวิสัยในการขับขี่อันเนื่องมาจากสภาพอากาศ เป็นต้น 

 

เทคโนโลยีแสดงผลบนกระจกหน้ารถในรถยนต์รุ่น Q4 e-tron จาก Audi 

ที่มา: https://www.audi-mediacenter.com/




  • ระบบตัดการทำงานเครื่องยนต์จากระยะไกล (Remote Vehicle Shutdown)

เป็นระบบที่สามารถสั่งการเพื่อดับเครื่องรถยนต์หรือปิดการทำงานของรถได้จากระยะไกล โดยมีในรถยนต์ของ GM ในสหรัฐอเมริกา ที่ทำงานผ่านโครงข่ายข้อมูลไร้สายร่วมกับดาวเทียมจีพีเอสเพื่อติดตามข้อมูลของรถยนต์ หากพบว่ารถเกิดอุบัติเหตุก็จะสามารถจัดส่งทีมเข้าช่วยเหลือได้ หรือหากมีการโจรกรรมก็สามารถสั่งการชะลอเครื่องยนต์คันนั้น ๆ ได้ทันทีเพื่อป้องกันการหลบหนี ช่วยลดอุบัติเหตุจากการไลล่าด้วยความเร็วสูงและติดตามคดีโจรกรรมรถยนต์ได้อีกด้วย 

 

โปรแกรม Onstar ของ GM บริการตัดการทำงานรถยนต์จากระยะไกล รวมถึงแจ้งเตือนอุบัติเหตุของรถ 

ที่มา: https://www.gm.com/onstar




  • ระบบเข้าถึงรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (Biometric Vehicle Access)

เป็นระบบที่เข้าถึงรถยนต์ได้ด้วยข้อมูลจำเพาะทางชีวภาพหรือการยืนยันอัตลักษณ์ของเจ้าของรถยนต์หรือผู้ใช้งานที่ได้มีการตั้งค่าไว้ โดยผ่านการสแกนลายนิ้วมือ การสแกนรูม่านตา การจดจำใบหน้า หรือการจดจำเสียงของเจ้าของรถหรือของผู้ใช้งาน เมื่อเจ้าของข้อมูลปลดล็อกรถด้วยการสแกนลายนิ้วมือที่ประตูรถ ระบบในรถ เช่น การปรับเบาะที่นั่ง การตั้งค่าพวงมาลัย กระจกมองหลัง ก็จะปรับอัตโนมัติตามเจ้าของข้อมูลทันที  

 

จากรายงานของ IndustryARC ประเมินว่าตลาดทั่วโลกสำหรับการเข้าถึงยานพาหนะด้วยระบบเทคโนโลยีชีวภาพด้วยการนำม่านตา ลายนิ้วมือ และเสียงมาใช้กับรถยนต์นั้นคาดว่าจะสูงถึง 1.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 โดยตั้งแต่ปี 2020 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 13.7% ต่อปี 

 

ระบบเข้าถึงรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ จาก Cadillac รุ่น The new 2021 XT4

ที่มา: https://cadillacsociety.com/

 

เส้นทางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นถูกคิดค้นโดยมีศูนย์กลางคือ เพื่อผู้ใช้รถและผู้ร่วมสัญจรบนท้องถนนมาโดยตลอด หากแต่วันนี้โลกได้มีบทบาทสำคัญให้คนได้คิดค้นเทคโนโลยีเพื่อยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากนี้ไปเราคงได้เห็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องการคมนาคม การขนส่ง ความปลอดภัย หรือเพื่อเป็นหมุดหมายให้กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพื่อความยั่งยืนของโลก ให้เป็นบทพิสูจน์ว่าเส้นทางของยานยนต์สมัยใหม่ไปได้ไกลกว่าแค่การเดินทาง 

 

อ้างอิง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง