รีเซต

ทรูฯ - รพ.จุฬาฯ พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยรังสีไอโอดีนครั้งแรกในไทย

ทรูฯ - รพ.จุฬาฯ พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยรังสีไอโอดีนครั้งแรกในไทย
TNN ช่อง16
30 ตุลาคม 2566 ( 20:23 )
92

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน และยังมีส่วนช่วยลดปริมาณรังสีที่จะได้รับโดยตรงให้กับแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ระหว่างให้การรักษาผู้ป่วย พร้อมความสามารถในการบริการ ที่พัฒนาฟังก์ชันขึ้นตามความต้องการใช้งานของบุคลากรโดยเฉพาะ


ที่มาและความสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน

โดยการพัฒนาหุ่นยนต์ในครั้งนี้ มาจากปัญหาของบุคลากรที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการรับรังสีในการทำงาน ทั้งจากการขนส่งสารรังสีไอโอดีน อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการเข้าไปตรวจอาการผู้ป่วย ที่อาจได้รับรังสีตกค้างจากการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน


ด้วยเหตุนี้ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จึงเริ่มตั้งโจทย์การออกแบบด้วยการวางปัญหาของบุคลากรเป็นหัวใจ ก่อนเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าไปแก้ปัญหา ออกแบบโดยผสานความเป็นมนุษย์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน หรือ Human-Tech Technology ในแนวคิด Humanize ที่ทำให้หุ่นยนต์นั้นมีความเป็นมนุษย์และทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างไร้รอยต่อ


ด้านคุณเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ให้นิยามว่าเป็นเทคโนโลยีฮิวแมน-เทค (Human-Tech Technology) ที่ทำให้หุ่นยนต์นั้นมีความเป็นมนุษย์และทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างไร้รอยต่อ พร้อมกล่าวถึงการดำเนินงานว่า "จุดเริ่มต้นโครงการนั้นเราพูดคุยกับทางทีมแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาฯ โดยพูดถึงความท้าทายที่เผชิญอยู่ พร้อมตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไร ถึงจะดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น โดยที่ทีมแพทย์ก็ไม่ได้รับผลกระทบของกัมมันตภาพรังสี  และเราก็นำเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าไป ทั้งเรื่องของ IoT ทั้งเรื่องของกลไกหุ่นยนต์ (Robot Mechanic) ตลอดจนเรื่องของคลาวด์ (Cloud) และเรื่องของสัญญาณเครือข่ายแบบ 5G ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกควบรวมกัน เพื่อให้เป็นระบบของหุ่นยนต์ที่มีความฮิวแมนไนซ์ (Humanize) หรือความเป็นมนุษย์ เพื่อให้หุ่นยนต์นั้นทำงานร่วมกับคนได้อย่างไร้รอยต่อมากที่สุด"


ความสามารถของหุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน

โดยหุ่นยนต์อัจฉริยะที่มีชื่อเรียกว่า “แฮปปี้” ได้รับการออกแบบรูปลักษณ์ลวดลายสีสัน หน้าจอและเสียง ที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ช่วยสร้างรอยยิ้มและความพึงพอใจให้คนไข้ไดั นอกจากนี้ ยังสามารถสั่งการและควบคุมได้ผ่านแท็บเล็ต และมาพร้อมกับฟังก์ชันที่โดดเด่น ดังนี้ 


1. การส่งสารรังสีไอโอดีน ยา เวชภัณฑ์ และ อาหาร ให้แก่ผู้ป่วยในพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วย ด้วยช่องใส่ที่ตัวหุ่นยนต์

2. แพทย์ระยะไกลผ่านระบบวิดีโอคอล อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วย เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

3. การวัดสัญญาณชีพของผู้ป่วยในระหว่างที่เข้ารับการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน โดยเชื่อมโยงข้อมูลภาพและผลตรวจแบบเรียลไทม์ พร้อมระบบจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์

4. การตรวจสอบการเปรอะเปื้อนรังสีในพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วยภายหลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล แสดงผลของปริมาณรังสีในรูปแบบ Heat Map ด้วยสีที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ตามระดับรังสี เพิ่มความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในการเข้าดูแลพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วย 


โดยฟังก์ชันทั้ง 4 สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว เชื่อมต่อผ่านเครือข่าย 5G รองรับการสื่อสารแบบเรียลไทม์ ที่ให้ทั้งความเร็วในการสื่อสาร ความเสถียร และความปลอดภัยสูงสุดของข้อมูล


เบื้องหลังการพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน

ด้าน คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป มองว่าความพร้อมด้าน 5G ของทรู คอร์ปอเรชั่น ช่วยให้การพัฒนาหุ่นยนต์ในครั้งนี้ ตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องการพัฒนาการดูแลผู้ป่วย ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริง โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาว่าการทำงานกับระบบ IoT ในพื้นที่ควบคุมกัมมันตภาพรังสีทำให้สัญญาณไวไฟอ่อนกำลังลง เนื่องจากผนังกำแพงที่เป็นตะกั่วนั้นต้องป้องกันการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี ทำให้สัญญาณไร้สายทั่วไปเข้าไม่ถึง ดังนั้น การใช้งานเครือข่าย 5G จึงช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้


นอกจากความพร้อมด้าน 5G ของทรู คอร์ปอเรชั่น แล้ว ความตั้งใจของบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัฐพลี ภาคอรรถ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฝ่ายสนับสนุนบริการ เชื่อว่า การให้บริการทางการแพทย์และการรักษาที่ดี คือการมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาในสิ่งที่ยังไม่มีในด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยรังสีไอโอดีน พร้อมให้สัมภาษณ์กับ TNN Tech ว่าทรูฯ เป็นชื่อแรก ๆ ที่นึกขึ้นมาเมื่อต้องการผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบ IoT ที่มีศักยภาพ


ทั้งนี้ นวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การตอกย้ำภาพความเป็นผู้นำของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี (Telecom-Tech Company) ที่ทำหน้าที่สานต่อความร่วมมือ เพื่อความก้าวหน้าของสาธารณสุขในไทย ตลอดจนเติมเต็มวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล และสร้างคุณค่าต่อ
เศรษฐกิจ และสังคมไทยอย่างต่อเนื่องสืบไป


ที่มาข้อมูล True 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง