รีเซต

อีลอน มัสก์ ขายหุ้น Tesla มูลค่า 6.9 พันล้านดอลลาร์ เตรียมสู้คดี Twitter

อีลอน มัสก์ ขายหุ้น Tesla มูลค่า 6.9 พันล้านดอลลาร์ เตรียมสู้คดี Twitter
TNN ช่อง16
10 สิงหาคม 2565 ( 17:04 )
104
อีลอน มัสก์ ขายหุ้น Tesla มูลค่า 6.9 พันล้านดอลลาร์ เตรียมสู้คดี Twitter

อีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัท เทสลา (Tesla) ได้ทำการขายหุ้นของบริษัทจำนวนกว่า 7.92  ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 342,000 ล้านบาท ในระหว่างวันที่ 5-9 สิงหาคมที่ผ่านมา ข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) ซึ่งทำให้ปัจจุบันอีลอน มัสก์ เหลือหุ้นของบริษัท เทสลา (Tesla) อยู่ 155.04 ล้านหุ้น หรือเป็นจำนวนน้อยกว่า 15% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท


สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเพิ่มเติมว่าอีลอน มัสก์ ได้เปิดเผยเหตุผลของการขายหุ้นบริษัทในครั้งนี้ว่าเพื่อต้องการเตรียมเงินทุนเอาไว้ในกรณีที่เขาแพ้คดีการฟ้องร้องบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) และถูกบังคับให้ซื้อกิจการบริษัท ทวิตเตอร์  


การขายหุ้นบริษัทในครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากอีลอน มัสก์ ทำการขายหุ้นไปในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งการขายหุ้นในครั้งนั้นมีจำนวน 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 298,600 ล้านบาท ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอีลอน มัสก์ เปิดเผยว่าจะไม่มีการขายหุ้นของบริษัทเพิ่มเติมอีก


ย้อนไปในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาอีลอน มัสก์ ประกาศเข้าซื้อกิจการบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) ด้วยมูลค่า 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.6 ล้านล้านบาท และกลายเป็นประเด็นร้อนแรงบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก แม้ว่าในช่วงแรกจะมีแรงต้านและผู้บริหารบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) พยายามขัดขวางการเข้าซื้อกิจการด้วยการเพิ่มจำนวนหุ้นในตลาดหรือพอยซั่น พิล (Poison Pill) แต่อีลอน มัสก์ก็สามารถบรรลุข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการได้สำเร็จ


กระบวนการเข้าซื้อกิจการบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) ดูเหมือนไม่มีอุปสรรคอะไรขวางกั้นอีกต่อไป นอกจากนี้อีลอน มัสก์ ยังประกาศแผนการพัฒนาต่าง ๆ ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์กของทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่เสรีและเพิ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์ให้มากถึง 931 ล้านคน ภายในเวลา 6 ปี  ก่อนที่ประเด็นปัญหาผู้ใช้งานปลอมบนทวิตเตอร์จะถูกหยิบยกขึ้นมา


อีลอน มัสก์กล่าวหาบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) ไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงของบัญชีผู้ใช้งานปลอม แม้ว่าบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) จะยืนยันมีบัญชีผู้ใช้งานปลอมเพียง 5% เท่านั้นจากบัญชีผู้ใช้งานทั้งหมดกว่า 345.3 ล้านคน ในปี 2022 จนนำไปสู่คดีการฟ้องร้องระหว่างอีลอน มัสก์และบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งถ้าหากอีลอน มัสก์ แพ้คดีอาจศาลอาจบังคับให้เขาซื้อบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) ด้วยมูลค่ากว่า 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.6 ล้านล้านบาท 


แม้ว่าทางอีลอน มัสก์ ยืนยันฝ่ายตนเองจะเป็นผู้ชนะคดีการฟ้องกับบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) และมั่นใจในข้อมูลการสำรวจจำนวนบัญชีผู้ใช้งานปลอมบนทวิตเตอร์โดยอัลกอริทึมชื่อว่า Botometer พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University) ในขณะเดียวกันก็ขายหุ้นบริษัท เทสลา (Tesla) ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการขายสินทรัพย์ดิจิทัลบิตคอยน์ (Bitcoin) ออกมาถึง 75% ของปริมาณที่บริษัทถืออยู่คิดเป็นมูลค่า 936 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 33,300 ล้านบาท ทำให้ประมาณการณ์ได้ว่าปัจจุบันอีลอน มัสก์ถือเงินสดดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่กว่า 16,236 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 675,300 ล้านบาท 


นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายและการบริหารจัดการความเสี่ยงครั้งสำคัญของอีลอน มัสก์ นอกจากปัญหาการฟ้องร้องกับบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) บริษัทยังต้องพบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของบริษัท เทสลา (Tesla) ในประเทศจีน ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนในกรณีของไต้หวัน 


รวมไปถึงกระบวนการทดสอบส่งจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Super Heavy) และยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ขึ้นสู่วงโคจรของโลกที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนของหน้าของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งมีอีลอน มัสก์เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท แม้กระบวนการทดสอบจะเข้มงวดในทุกขั้นตอนแต่โอกาสความผิดพลาดยังคงมีอยู่ซึ่งอาจหมายถึงเงินลงทุนมหาศาลที่หายไป ต้นทุนการพัฒนาจรวดเพิ่มขึ้นและระยะเวลาในการพัฒนาจรวดซูเปอร์เฮฟวี่ (Super Heavy) และยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ที่กระชั้นชิดมากขึ้นเพื่อให้สามารถส่งจรวดและยานอวกาศตรงตามกำหนดเวลาที่บริษัททำสัญญาไว้องค์การนาซา 


ที่มาของข้อมูล reuters.com insiderintelligence.com bloomberg.com

ที่มาของรูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง