รีเซต

พายุสุริยะสร้างเรื่องอีกแล้ว ! ทำสัญญาณวิทยุในทวีปอเมริกาเหนือดับ

พายุสุริยะสร้างเรื่องอีกแล้ว ! ทำสัญญาณวิทยุในทวีปอเมริกาเหนือดับ
TNN ช่อง16
15 สิงหาคม 2566 ( 15:03 )
153

ในวันที่ 7 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา นักพยากรณ์อากาศในอวกาศได้ออกคำเตือนถึงอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ที่กำลังพุ่งเข้าชนโลก ส่งผลให้สัญญาณวิทยุและสัญญาณนำทางในทวีปอเมริกาเหนือดับ

ปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์ (Solar Flare) ของดวงอาทิตย์ในระดับซี (C) 

โดยคีธ สตรอง (Keith Strong) นักฟิสิกส์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวว่า สัญญาณวิทยุดับในครั้งนี้ที่เกิดจากปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์ (Solar Flare) ของดวงอาทิตย์ในระดับซี (C) ที่มีปริมาณรังสีตั้งแต่ 10-6 - 10-5  วัตต์ต่อตารางเมตร จากการจัดอันดับความรุนแรงโดยองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) ว่ามีทั้งหมด 5 ระดับ คือ ระดับเอ (A), ระดับบี (B), ระดับซี, ระดับเอ็ม (M) และระดับเอ็กซ์ (X)


นอกจากนี้ องค์กรพยากรณ์อากาศในอวกาศแห่งประเทศสหราชอาณาจักรอย่างเม็ทออฟฟิศ (MetOffice) ยังได้ออกมาบอกด้วยว่า ปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์ในครั้งนี้เกิดจากกลุ่มจุดดับบนดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนไหวและมองเห็นได้มากที่สุดบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ ซึ่งปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากได้รับการยืนยันในวันที่ 5 สิงหาคม 2023 ว่าปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์ระดับเอ็กซ์เริ่มลดระดับความรุนแรงลงบ้างแล้ว


ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ มีปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์ระดับปานกลางเกิดขึ้นหลายครั้ง โดย 3 ครั้งจากจำนวนครั้งทั้งหมด เกิดขึ้นใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เม็ทออฟฟิศจึงได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับพายุสุริยะอ่อน ๆ เนื่องจากมีอนุภาคสุริยะที่มีประจุไฟฟ้าอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก 


อันตรายของพายุสุริยะ 

ในกรณีที่รุนแรง อนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายจากการแผ่รังสีต่อนักบินอวกาศในอวกาศ ตลอดจนผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินที่เดินทางข้ามบริเวณขั้วโลก รวมถึงทำลายดาวเทียมในวงโคจร  


โดยปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์มักเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น เมื่อจุดดับบนดวงอาทิตย์มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจุดดับบนดวงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นทุก ๆ 11 ปี เมื่อถึงจุดสูงสุดมันจะลดจำนวนลงและกลับเข้าสู่วงจรเดิม โดยรอบจุดดับบนดวงอาทิตย์ในครั้งนี้จะเข้าสู่จุดสูงสุดในปี 2025 และจะลดจำนวนลง สิ้นสุดรอบ 11 ปี ในปี 2030


ข้อมูลจาก space.com

ภาพจาก NASA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง