รีเซต

ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง "สุเทพ" คดีก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง

ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง "สุเทพ" คดีก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง
TNN ช่อง16
20 กันยายน 2565 ( 13:03 )
137



ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ต้องหา ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคดีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการจัดซื้อจัดจ้างการก่อสร้างโรงพักจำนวน 396 แห่ง 



เนื่องจาก ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรี ในชุดที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงดำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะมีมติอนุมัติหลักการ และโครงการในการก่อสร้างสถานีตำรวจ และอาคารที่พัก รวมถึงรับทราบเพียงรูปแบบการลงทุนภาครัฐที่กรมธนารักษ์เสนอให้เปลี่ยนแปลงสินทรัพย์ เป็นทรัพย์สิน มาเป็นการของบประมาณผูกพันข้ามปีเป็นระยะเวลา 3 ปี ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอเท่านั้น ไม่ได้มีมติกำหนดรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง 




ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง จากการกระจายสัญญาการก่อสร้างไว้ตามตำรวจภูธรภาค มาเป็นการรวมสัญญาไว้ที่ส่วนกลางเพียงสัญญาเดียว และมีการประมูลแบบอิเลคทรอนิกส์ จึงสามารถดำเนินการได้ตามที่นายสุเทพได้อนุมัติ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เพราะรูปแบบ และวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะเห็นชอบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดซื้อจ้าง ดังนั้น เมื่อนายสุเทพ ที่มีอำนาจกำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอนุมัติให้สำนักงานเปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จึงไม่ใช่การกระทำโดยมิชอบตามข้อกล่าวหา จึงถือว่า ไม่มีความผิดตามฟ้อง เพราะมติคณะรัฐมนตรี จะมีผลผูกพันเฉพาะเรื่องที่หน่วยงานขออนุญาตเท่านั้น


ขณะเดียวกัน ศาลฯ ยังยกฟ้องพลตำรวจเอกปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการ ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ในการกำหนดแนวทาง และวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรี ไม่ได้มีมติกำหนดรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างใด ๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงสามารถดำเนินการเองได้ โดยไม่ต้องรับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ดังนั้น การกระทำของพลตำรวจเอกปทีป จึงเป็นการใช้อำนาจ และดุลยพินิจตามหน้าที่ ไม่ใช่การกระทำที่มิชอบตามกฎหมาย จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง


เช่นเดียวกับพลตำรวจตรีสัจจะ คชหิรัญ และพันตำรวจโทสุริยา แจ้งสุวรรณ์ ในฐานะที่เป็นประธาน และเลขานุการ กรรมการการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่มีความผิด เพราะเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน ในการประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะต้องพิจารณาจากผู้ที่ประเมินราคาต่ำสุด ซึ่งการพิจารณาดังกล่าว ไม่ได้เป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และไม่พบการมีส่วนได้ส่วนเสียจากการกระทำ จึงถือว่า ไม่มีความผิด   


ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีความผิด ก็ส่งผลให้จำเลยที่ 5-6 ที่เป็นบริษัทเอกชน ไม่มีความผิดไปด้วย เนื่องจาก คณะกรรมการจัดซ์้อจัดจ้าง ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ปรากฏความเสียหายแก่รัฐ ไม่มีส่วนได้เสีย ศาลฯ จึงได้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด




ภาพ TNNOnline  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง