รีเซต

ภูมิคุ้มกันจากการ "ปลูกฝี" ในอดีต ยังป้องกันไวรัส "ฝีดาษลิง" ได้อยู่หรือไม่?

ภูมิคุ้มกันจากการ "ปลูกฝี" ในอดีต ยังป้องกันไวรัส "ฝีดาษลิง" ได้อยู่หรือไม่?
TNN ช่อง16
3 กันยายน 2565 ( 17:58 )
101
ภูมิคุ้มกันจากการ "ปลูกฝี" ในอดีต ยังป้องกันไวรัส "ฝีดาษลิง" ได้อยู่หรือไม่?

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ตอบข้อสงสัยเคย "ปลูกฝี" มาแล้วในอดีตยังมีภูมิคุ้มกันอยู่หรือไม่ และจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" สายพันธุ์ปัจจุบันได้มากแค่ไหน?

วันนี้ (3 ก.ย.65) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยวกับ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนฝีดาษในอดีต กับ ไวรัสฝีดาษลิงปัจจุบัน โดยระบุว่า

เชื่อว่าหลายคนสงสัยว่าเคย "ปลูกฝี" มาแล้วในอดีตยังมีภูมิอยู่หรือไม่ และจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" สายพันธุ์ปัจจุบันได้มากแค่ไหน?

เนื่องจากวัคซีนฝีดาษพัฒนามาจากไวรัส Vaccinia ซึ่งเป็น Poxvirus สายพันธุ์เก่าแก่มาก ที่มีความใกล้เคียงกันกับทั้งไวรัสฝีดาษคน และ ฝีดาษลิงในระดับหนึ่ง

ความแตกต่างระหว่างไวรัสทำให้มีความสงสัยว่าภูมิจากไวรัสเก่าแก่อย่าง Vaccinia ยังสามารถข้ามมายับยั้งไวรัสสายพันธุ์ปัจจุบันของฝีดาษลิงได้มากน้อยขนาดไหน และเนื่องจากมีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปพอสมควร ทำให้มีความสนใจว่าภูมิจากวัคซีนในอดีตของกลุ่มนี้เหลืออยู่เท่าไหร่กันแน่ ซึ่งดูเหมือนไม่พอในการป้องกัน


ทีมวิจัยในประเทศเนเธอแลนด์ได้ทำการตรวจสอบซีรั่มที่เพิ่งก็บจากคนที่เกิดก่อนปี 1974 เทียบกับ คนที่เกิดหลังจากนั้น เนื่องจากวัคซีนฝีดาษหยุดฉีดในประเทศตั้งแต่ปี 1974 โดยตรวจดูภูมิต่อไวรัส Vaccinia 

พบว่า ถึงแม้จะฉีดวัคซีนมานานเกือบ 50 ปีแล้ว แอนติบอดีต่อ Vaccinia จะสามารถตรวจพบได้อยู่เทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยฉีดวัคซีน โดยระดับแอนติบอดีมีความหลากหลาย คนที่ฉีดก่อนก็ไม่ได้มีน้อยไปกว่าคนฉีดที่หลัง

ทีมวิจัยถามต่อว่าภูมิต่อ Vaccinia ที่ตรวจได้ สามารถจับและยับยั้งไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ปัจจุบัน (MPXV) หรือไม่?

คำตอบ คือ มี เทียบกับกลุ่มที่ไม่มีภูมิเลย แต่ระดับที่ตรวจได้จะไม่ค่อยมากเท่าไร ได้ค่าประมาณ 50-60 (บางคนสูงถึง 600 บางคนไม่พบเลย) ซึ่งตอนนี้ยังไม่ชัดว่าค่าแอนติบอดีต่อ MPXV เท่าไหร่ถึงจะพอป้องกัน...[แต่ถ้าดูต่อไปด้านล่างอาจจะอนุมานคร่าวๆได้ว่าควรจะประมาณ 160?]


ที่น่าสนใจคือ ทีมวิจัยตรวจภูมิคุ้มกันในกลุ่มที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมา (กลุ่ม PCR positive) พบว่า กลุ่มที่เคยฉีดวัคซีนมาในอดีตสามารถกระตุ้นภูมิต่อ Vaccinia ที่เคย Prime มาได้สูงมาก แต่ถ้าเทียบภูมิที่จำเพาะต่อฝีดาษลิงในกลุ่มที่เคยฉีดและไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน 

ทีมวิจัยไม่เห็นความแตกต่างในทั้งสองกลุ่ม ภูมิของคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนที่จำเพาะต่อฝีดาษลิงสูงไปที่ ประมาณ 160 ซึ่งเท่ากับกลุ่มที่เคยมีภูมิจาก Vaccinia และ ไปติดฝีดาษลิง 

ผลการทดลองนี้อาจเกิดคำถามว่า ภูมิจาก Vaccinia ในอดีตอาจจะถูกกระตุ้นจากวัคซีนฝีดาษลิง "ไม่ค่อยดีพอ" เพราะ B cell ที่มีความทรงจำต่อวัคซีนเดิมอาจจะไม่ค่อยรู้จักไวรัสตัวใหม่เท่าไหร่แล้ว


ทีมวิจัยยังถามต่อไปว่า วัคซีนฝีดาษ MVA-BN ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งพัฒนามาจาก Vaccinia เช่นกัน สามารถกระตุ้นภูมิต่อไวรัสฝีดาษลิงได้ระดับใด?

ในกลุ่มที่มีภูมิต่อวัคซีนเก่า แต่มีภูมิต่อฝีดาษลิงในระดับค่อนข้างสูง การฉีดกระตุ้นซ้ำดูเหมือนจะไม่ค่อยเห็นระดับของแอนติบอดีที่สูงขึ้น 

นอกจากนี้ กลุ่มที่ไม่เคยมีภูมิจากในอดีตมา ก็มีภูมิต่อไวรัสฝีดาษลิงไม่มากเช่นเดียวกัน ที่ 4 สัปดาห์หลังเข็มสอง ระดับยังได้เพียงแค่ 20 ซึ่งดูจะน้อยไปในการป้องกัน 

ทีมวิจัยระบุว่า การกระตุ้นด้วยเข็ม 3 ดูเหมือนจะจำเป็น และการลดโดสลงเป็นการฉีดแบบใต้ผิวหนังอาจจำเป็นต้องศึกษาอย่างระมัดระวัง.



ข้อมูลจาก Anan Jongkaewwattana

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง