"ภาษีทรัมป์" คืออะไร ทำไมไทยต้องต่อรอง จีนผิดตรงไหน ทำไมโดนหนัก l World Wide Wealth

ภาษีทรัมป์ เป็นคำเรียกสั้นๆ ที่หมายรวมถึง มาตรการทางภาษีศุลกากร หรือ Tariffs ที่ออกมาจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน เป็นการเรียกเก็บภาษีสินค้าต่างๆ ที่มาจากต่างประเทศเมื่อนำเข้าสู่สหรัฐฯ
โดยก่อนหน้านี้ก่อนที่ทรัมป์จะเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ สหรัฐอเมริกามีการเก็บภาษีศุลกากร หรือ Tariffs ไปยังประเทศต่างๆ เฉลี่ยเพียงแค่ 2.5 % เท่านั้น แต่หลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็ได้เดินหน้าขึ้นภาษีศุลกากรที่ว่านี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง ล่าสุด 104 % กับประเทศจีน และ 36 % กับประเทศไทย
ทั้งหมดนี้มาจากความตั้งใจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการจะหาเงินเข้าสู่ประเทศ เพราะแม้สหรัฐจะเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ในแง่ของขนาดทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีปัญหาด้านการเงิน เพราะขาดดุลการค้าอย่างหนัก รวมถึงล่าสุด มกราคมที่ผ่านก่อนทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง
บลูกเบิร์ก รายงานว่า สหรัฐขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึง 1.314 แสนล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะจีนเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่เกินดุลสหรัฐมากที่สุด ตามด้วย เม็กซิโก และเวียดนาม
ทรัมป์ต้องการสร้างระเบียบการค้าโลกใหม่ การขึ้นภาษีศุลกากร หรือ Tariffs ครั้งใหญ่นี้ มี 2 ตัวด้วยกัน คือ Baseline Tariffs ที่ขึ้นภาษีนำเข้าทั่วไปทุกรายการมายังสหรัฐ 10 % เริ่มตั้งแต่ 5 เมษายน 2568 แต่ตัวที่เจ็บที่สุด คือ ภาษีศุลกากรแบบ "ต่างตอบแทน" หรือ Reciprocal Tariffs ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ทรัมป์ งัดรายชื่อออกมากางให้โลกรู้ ว่าสหรัฐเสียเปรียบทางการค้ามากน้อยแค่ไหนกี่เปอร์เซ็นต์ และขอโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีตั้งแต่ 10 ไปถึง 50 % ซึ่งเป็นจุดที่ไทยโดนไป 36 % มากเป็นลำดับที่ 5 ของอาเซียน โดยสูงสุดคือ กัมพูชา 49 %