การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศอินเดียและปากีสถาน ส่งผลกระทบภูมิรัฐศาสตร์อย่างไร ?

การขยายตัวของกิจกรรมทางทหารในอวกาศกำลังเปลี่ยนสนามแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียใต้ การลงจอดของยาน "จันทรายาน-3" ของอินเดียบนดวงจันทร์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2023 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่แสดงศักยภาพของอินเดียในฐานะผู้เล่นหลักในสมรภูมิอวกาศ และความสำเร็จนี้ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ต่อจากสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และจีน
องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนว่า อินเดียจะไม่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศที่มีบทบาทสำคัญระดับโลก
โครงการอวกาศของอินเดียได้รับแรงกระตุ้นจากการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งจีนและปากีสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการระหว่างกองทัพอินเดียกับอุตสาหกรรมอวกาศผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานอวกาศกลาโหม (DSA) องค์กรวิจัยและพัฒนากลาโหมของอินเดีย (DRDO) และสำนักงานวิจัยอวกาศกลาโหม (DSRO) ผ่านการพัฒนาดาวเทียมจารกรรม (Reconnaissance satellites) ระบบเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับขีปนาวุธ, และ ระบบการสื่อสารทางทหาร
วันที่ 27 มีนาคม 2019 ภารกิจ Mission Shakti แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีอวกาศของอินเดียมีความก้าวหน้าไปถึงการยิงทำลายดาวเทียมของตนเองที่อยู่ในวงโคจรต่ำ (LEO) ที่ระดับความสูงประมาณ 300 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนของศักยภาพทางอาวุธอวกาศ ภารกิจดังกล่าวดำเนินการโดยองค์กรวิจัยและพัฒนากลาโหมของอินเดีย (DRDO)
ในขณะเดียวกัน ปากีสถานเองก็เร่งพัฒนาโครงการอวกาศภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการวิจัยอวกาศและชั้นบรรยากาศบน (SUPARCO) แม้จะเผชิญข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี แต่ปากีสถานยังคงตั้งเป้าที่จะเป็นรัฐมุสลิมชาติแรกในเอเชียใต้ที่เข้าร่วมการแข่งขันอวกาศ โดยได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากจีนอย่างต่อเนื่อง
อวกาศส่งผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างไร ?
จีนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการอวกาศของปากีสถาน เนื่องจากจีนมองว่าเห็นถึงผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ในความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน เช่น การเสริมอิทธิพลของจีนในเอเชียใต้ โดยจีนได้สนับสนุนปากีสถานทั้งในด้านอาวุธอวกาศและโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้สถานการณ์ยิ่งทวีความตึงเครียด โดยเฉพาะเมื่ออินเดียมองว่าการร่วมมือระหว่างจีนกับปากีสถานเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของตน
อินเดียหันไปสร้างพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เช่น กลุ่ม QUAD ซึ่งประกอบด้วยอินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในภูมิภาค โดยความร่วมมือครอบคลุมตั้งแต่ชีวดาราศาสตร์ ความมั่นคงไซเบอร์ ไปจนถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย
ปากีสถานต้องเผชิญโจทย์ใหญ่ในการสร้างสมดุลระหว่างอุดมการณ์การพึ่งพาตนเอง ความมั่นคงของชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจในอวกาศ ความร่วมมือกับจีน เช่น ผ่านโครงการ CPEC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Belt and Road Initiative (BRI) ได้เปิดโอกาสให้ปากีสถานลงทุนในเทคโนโลยีอวกาศและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการเข้าร่วมภารกิจฉางเอ๋อ-6 (Chang'e-6) ของจีนในปี 2024 ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของปากีสถานในด้านการสำรวจอวกาศและวิจัยขั้นสูง
นอกจากนี้ ปากีสถานมีแผนที่จะส่งรถสำรวจดวงจันทร์ที่พัฒนาโดยตนเองเข้าร่วมกับภารกิจฉางเอ๋อ-8 (Chang'e-8) ของจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ International Lunar Research Station (ILRS) ที่จีนและรัสเซียร่วมกันพัฒนา รวมไปถึงแผนการฝึกนักบินอวกาศจากปากีสถานเพื่อเข้าร่วมภารกิจในสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) ของจีน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่นักบินอวกาศจากต่างประเทศเข้าร่วมภารกิจในสถานีอวกาศของจีน
การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศในศตวรรษที่ 21
การแข่งขันอวกาศระหว่างอินเดียและปากีสถานสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งอวกาศมิใช่เพียงเวทีทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอีกต่อไป แต่ยังกลายเป็น “สนามแห่งอำนาจใหม่” ที่ประเทศต่าง ๆ ใช้แสดงศักยภาพด้านความมั่นคง เทคโนโลยี และอิทธิพลในระดับภูมิภาคและระดับโลก
อินเดียซึ่งมีโครงการอวกาศพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอวกาศของโลก โดยสามารถดำเนินภารกิจสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารด้วยตนเอง อีกทั้งยังแสดงศักยภาพด้านการป้องกันด้วยการทดสอบอาวุธต่อต้านดาวเทียม (ASAT)
ในทางตรงกันข้าม ปากีสถานแม้จะเริ่มต้นช้ากว่า แต่ก็ใช้ยุทธศาสตร์ “พันธมิตรเทคโนโลยี” โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับจีน โดยเฉพาะในด้านอวกาศ เช่น การร่วมภารกิจฉางเอ๋อ-6 (Chang'e-6) และการฝึกนักบินอวกาศสำหรับสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) ของจีน
แม้ว่าการแข่งขันนี้จะเพิ่มความตึงเครียด โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อจุดประสงค์ทางทหารและข่าวกรอง แต่ก็เป็นช่องทางให้เกิด การพัฒนานวัตกรรมใหม่ การสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ และการขยายขอบเขตของมนุษย์ไปสู่อวกาศลึก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อองค์ความรู้ของมนุษยชาติในระยะยาว
การแข่งขันอวกาศในศตวรรษที่ 21 จึงไม่ใช่เพียงเรื่องใครพัฒนาเทคโนโลยีอะไรได้ก่อน แต่คือการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศในเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอำนาจอธิปไตย ในยุคที่ “ขอบฟ้าใหม่” ของมนุษย์อยู่เหนือชั้นบรรยากาศของโลก