รีเซต

ไทยเจ๋งผลิตวัคซีนใช้เอง สกัดพิษลัมปีฯ-บุกตลาดอาเซียน

ไทยเจ๋งผลิตวัคซีนใช้เอง สกัดพิษลัมปีฯ-บุกตลาดอาเซียน
มติชน
1 เมษายน 2565 ( 06:32 )
49

เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานพบโคเนื้อแสดงอาการสงสัย โรคลัมปี สกิน เป็นโคที่เกษตรกรรายย่อยที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 10 ราย จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ จำนวน 5,000 ราย

 

โดยเกษตรกรแต่ละรายพบโคป่วย 1-2 ตัว จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ต่อมาผลทางห้องปฏิบัติการตรวจพบเชื้อไวรัส โรคลัมปี สกิน

 

นั่นเป็นการตรวจพบโรคดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย!

 

ย้อนความกันสักเล็กน้อย สำหรับ โรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญในโค กระบือ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัส สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วตัว พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอันฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้

 

อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือกตา น้ำตาไหลและมีขี้ตา โดยสัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาจมีภาวะเป็นหมันชั่วคราว หรือถาวร แท้งลูกและมีปริมาณน้ำนมลดลง อัตราการป่วยอยู่ที่ 5-45% อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน

 

ซึ่งผลจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยง 49 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 58,474 ราย สัตว์ป่วยและเสียชีวิต รวม 64,913 ตัว

 

จากผลกระทบดังกล่าว กรมปศุสัตว์ ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี เฉลิมชัย ศรีอ่อน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรทั้ง49 จังหวัด เป็นเงิน 1,331.74 ล้านบาท

 

แบ่งเป็น ขอใช้งบกลาง 15 จังหวัด มีเกษตรกร 7,939 ราย สัตว์ 8,825 ตัว วงเงิน 154.23 ล้านบาท และขอใช้เงินทดรองราชการ 42 จังหวัด มีเกษตรกร 50,535 ราย สัตว์ 56,088 ตัว เป็นเงิน 1,177.50 ล้านบาท โดยได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว จำนวน 15,014 ราย หรือ 30.3% วงเงิน 357.06 ล้านบาท ใน 28 จังหวัด และอยู่ระหว่างช่วยเหลือ จำนวน 35,225 ราย หรือ 69.7% วงเงิน 820.44 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะจ่ายครบทั้งหมด

 

นอกจากการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรแล้ว ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้วิจัยและพัฒนาวัคซีน โรคลัมปี สกิน โดยสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ สำหรับใช้ป้องกันและควบคุมโรคกรณีฉุกเฉิน ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติสามารถแยกไวรัสจากตัวอย่างสัตว์ป่วยในประเทศมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองได้สำเร็จ และส่งหัวเชื้อไวรัสต่อให้สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์นำมาขยายปริมาณไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง และผลิตเป็นแอนติเจนที่หมดฤทธิ์ในการก่อโรค

 

จากนั้นได้ทดลองผลิตเป็นวัคซีน 2 สูตร ได้แก่ วัคซีนเชื้อตายในรูปแบบชนิดน้ำ และวัคซีนเชื้อตายชนิดน้ำมัน!

 

โดยผลการทดลองในสัตว์ตามวิธีมาตรฐานการผลิตวัคซีนแสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้ง 2 สูตร มีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในสัตว์ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ วัคซีนเชื้อตายชนิดน้ำมันให้ความคุ้มโรค 100% สูงกว่าชนิดน้ำที่ให้ความคุ้มโรค 80%

 

ปัจจุบันกรมปศุสัตว์เดินหน้าขยายกำลังการผลิตวัคซีนจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยีการผลิตในขวดเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมของการผลิตวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย

 

และที่สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์มีองค์ความรู้และมีบุคลากรที่มีความชำนาญ โดยเทคโนโลยีการผลิตดังกล่าวสามารถรองรับปริมาณการผลิตวัคซีนที่ 50,000-100,000 โดสต่อเดือน

 

ตลอดจนกระบวนการผลิตใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนเศษ และคาดว่าจะผลิตวัคซีนชุดแรกแล้วเสร็จช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ในราคาต้นทุนโดสละ 9 บาท

 

ในช่วงปีแรกสามารถผลิตวัคซีนได้มีมูลค่า 6 ล้านบาท หากต้องนำเข้าจากต่างประเทศต้องใช้งบประมาณถึง 27 ล้านบาท จะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มากถึง 21 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เพื่อให้มีปริมาณวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการใช้ สำหรับการควบคุมและป้องกันภายในประเทศ รวมถึงสัตว์นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน กรมปศุสัตว์ได้ศึกษาความเป็นไปได้เพื่อขยายกำลังการผลิตวัคซีนดังกล่าวให้สามารถผลิตได้ 5 แสนต่อเดือน ถึงกว่า 1 ล้านโดส

 

ซึ่งจะทราบผลการศึกษาในช่วงกลางปี 2566 และหากกำลังการผลิตเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดจะสามารถช่วยลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศได้มากถึงปีละ 8 ล้านโดส ซึ่งต้องใช้งบประมาณถึง 360 ล้านบาท

 

ดังนั้น การที่กรมปศุสัตว์สามารถผลิตวัคซีน โรคลัมปี สกิน เองได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 280 ล้านบาทต่อปี

 

อีกทั้งสามารถส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้อีกด้วย นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงยังนำไปสู่การกำจัด โรคลัมปี สกิน ให้หมดไปจากประเทศไทยได้อย่างถาวรอีกด้วย

 

นับเป็นความสำเร็จในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ในประเทศอีกทาง!?!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง