รีเซต

เช็กความพร้อม รับมือ 'สึนามิ'

เช็กความพร้อม รับมือ 'สึนามิ'
มติชน
8 กรกฎาคม 2565 ( 06:41 )
161

‘ภูเก็ต’ คุยผ่านบทเรียนอันเลวร้ายจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 เกิดจากแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงศูนย์กลางบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ห่างจากภูเก็ตประมาณ 580 กิโลเมตร ขนาดความรุนแรงประมาณ 8.9 ริกเตอร์ เกิดสึนามิถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวติดกันอย่างถี่ยิบ ช่วง 4-6 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ความรุนแรงขนาด 4-5 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะอันดามันประเทศอินเดีย ห่างจากภูเก็ตประมาณ 500 กิโลเมตร แม้แรงสั่นสะเทือนจะไม่ถึงภูเก็ต แต่เขย่าขวัญชาวภูเก็ตให้จิ

ตใจสั่นไหว หวั่นเกิดสึนามิ

ประกอบกับเกิดฝนตกหนัก คลื่นลมแรง น้ำทะเลหนุนสูง ซัดเข้าชายฝั่งหลายพื้นที่ของภูเก็ต และน้ำทะเลจากบริเวณหาดทรายแก้ว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ได้เอ่อล้นไหลท่วมถนนเส้นทางออกจากภูเก็ตไปพังงา ทำให้ชาวภูเก็ตยิ่งเกิดความวิตกกังวลมากขึ้น

 

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ช่วงนี้ ประชาชนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับคำว่า นิโคบาร์ คำว่า แผ่นดินไหวในทะเล เกิดขึ้น 23 ครั้ง ประกอบกับน้ำทะเลหนุน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้วิตกกังวลว่าจะเกิดสึนามิหรือไม่ ได้กำชับให้ผู้รับผิดชอบ มี นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าฯภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) ภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และทุกหน่วยงานถ้าเกิดเหตุต้องเข้าพื้นที่ทันทีอย่าให้ล่าช้า ขณะนี้ยังไม่น่ากังวลมาก แต่เตรียมพร้อมไว้แล้ว เพราะไม่ทราบจะเกิดอะไรขึ้นมา

 

นายอุดมพร กาญจน์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ยืนยันว่าน้ำทะเลหนุนสูง ไม่เกี่ยวกับสึนามิ ปัจจัยเกิดสึนามิต้องมีแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนที่นิโคบาร์ประมาณกว่า 7 ริกเตอร์ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเฝ้าระวังกันตลอด มีการตรวจวัดระดับน้ำที่เกาะเมียง จังหวัดพังงา และกรณีทุ่นสึนามิ ตอนนี้ทุ่นหลุดอยู่ แต่สามารถรับรู้ได้เตือนภัยได้ ฝั่งทะเลอันดามันที่มีการเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 4.7 ริกเตอร์ หลายครั้ง วันที่ 4-5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขนาดประมาณกว่า 4 ริกเตอร์ ไม่กระทบต่อประเทศไทย ได้ทดสอบสัญญาณเตือนภัยทุกวันพุธ เวลา 08.00 น. ด้วยเสียงเพลงชาติ ไปที่หอเตือนภัย 19 จุด แบ่งเป็นพื้นที่ อ.เมือง 11 หอ ประกอบด้วย 1.ท่าเทียบเรือหาดราไวย์ 2.หาดในหาน 3.โรงเรียนเกาะโหลน 4.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลรัษฎา (แหลมตุ๊กแก) 5.สวนสาธารณะสะพานหิน 6.ทางขึ้นจุดชมวิวเขาขาด 7.ท่าเรืออ่าวฉลอง 8.หาดกะตะ 9.บริเวณข้างโรงแรมกะตะธานี 10.ข้าง อปพร.หาดกะรน 11.ประปาเกาะราชาใหญ่

 

ส่วนที่ อ.กะทู้ มี 4 หอ ประกอบด้วย 12.หอเตือนภัยข้างโรงแรมกมลา บีชฮานีลากูน่า ภูเก็ต 13.ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวหาดป่าตอง 14.โรงแรมซีวิวหาดป่าตองและ 15.โรงแรมซันเซ็ทหาดป่าตอง ที่ อ.ถลางมี 4 หอ ประกอบด้วย 16.โรงเรียนวัดมงคลวรารามตำบลสาคู 17.หน้าชายหาดไม้ขาว 18.อ่าวปอ และ 19.หาดบางเทา-เลพัง เสียงสัญญาณดี และถ้าเกิดเหตุการณ์จริงจะมีเสียงแจ้งเตือน 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษารัสเซีย

 

ในการแจ้งเตือนจะแจ้ง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 แจ้งขนาดความสั่นของแผ่นดินไหว ครั้งที่ 2 แจ้งให้เตรียมความพร้อมอพยพหนีภัย ภูเก็ตมีเวลาเตรียมตัว 1 ชั่วโมงบวกบวก การเอาตัวรอด


ของชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเกิดแผ่นดินไหวแบบแนวดีด เกิดสึนามิ น้ำทะเลจะลดลงก่อน ทีมเฝ้าระวังจะวิเคราะห์ และแจ้งให้ทราบก่อนแจ้งเตือน

 

ทีมกรมอุตุนิยมวิทยาส่งข้อมูลมาที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ วิเคราะห์และแจ้งให้เสียงสัญญาณเตือนภัยไปตามหอต่างๆ ได้เลย มีเส้นทางอพยพหนีภัยสึนามิ ไปยังจุดปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ รอบเกาะภูเก็ตกำหนดการฝึกซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 น. ในพื้นที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ทางอำเภอถลางจะประชุมกำหนดสถานที่ก่อนทำการฝึกซ้อม

นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต กล่าวว่า กรณีการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันในระยะนี้บ่อยครั้งนั้นไม่กระทบกับจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย การเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกในทวีปมหาสมุทรอินเดียยังมีการไหวเยอะเท่ากับคลายพลังงาน ดังนั้น โอกาสเกิดสึนามิมีน้อยมาก สถิติการเกิดแผ่นดินไหวบนบกและในทะเลมีการไหวต่อเนื่องทุกวัน ยืนยันว่าไม่กระทบกับภูเก็ตกับประเทศไทย ในการดูแลทุ่นสึนามิ

ได้มีกลุ่มประเทศอีกกว่า 10 ประเทศที่มีทุ่นเตือนภัยสึนามิ รายงานการตรวจวัดแผ่นดินไหวไปที่สำนักงานบริหารภาคพื้นทะเลและบรรยากาศแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือ NOAA อยู่ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา เอาผลการตรวจวัดของทุ่นที่หลายประเทศ มีการตรวจสอบตรวจวัดแจ้งเตือนอยู่แล้วในฝั่งอันดามันของประเทศไทยมีระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิที่เกาะเมียง จังหวัดพังงา แจ้งเตือนมาที่หอเตือนภัย ใน 6 จังหวัดอันดามัน และในภูเก็ตทดสอบเสียงสัญญาณเตือนภัยของหอเตือนภัยทุกวันพุธเวลา 08.00 น. หอเตือนภัยทำงานปกติ

โดยสรุป การเกิดแผ่นดินไหวมีปัจจัยเกิดบ่อยตลอดเวลาอยู่แล้ว ข้อมูลทุ่นจากหลายประเทศยังมีเชื่อมโยงข้อมูลกัน ถ้าเกิดสึนามิจริง สามารถแจ้งเตือนภัยได้ทัน และจากการเกิดน้ำทะเลหนุนขึ้นมาบนถนนในหลายพื้นที่ของภูเก็ตในช่วง 1-2 วันมานี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติทุกปีอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับสึนามิ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ให้มั่นใจระบบการเตือนภัยให้ติดตามข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามข้อสั่งการของราชการโดยเคร่งครัด

ด้านหน่วยเฝ้าตรวจและรายงานการเคลื่อนตัวของคลื่น เกาะเมียง กองทัพเรือ (นตค.เกาะเมียง) แจ้งว่า จากสถานการณ์ที่มีการตรวจพบว่าเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล ขนาด 4.5-5.6 ที่ความลึก 10-250 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 4 เวลา 12.35 น. จนถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ณ บริเวณใกล้กับชายฝั่งของหมู่เกาะอันดามันแอนด์นิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ห่างจากชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 540 กิโลเมตร จำนวนหลายครั้งตลอดทั้งวันนั้น

ได้ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ต่างเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทัพเรือภาคที่ 3 โดย หน่วยเฝ้าตรวจและรายงานการเคลื่อนตัวของคลื่น เกาะเมียง กองทัพเรือ (นตค.เกาะเมียง) ตั้งอยู่บนเกาะเมียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ในทะเลด้านทิศตะวันตกสุดของประเทศไทย ได้ตรวจสอบความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ในการวัดระดับน้ำ และทำการฝึกซ้อมการแจ้งเตือนภัยสึนามิอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับเครื่องตรวจวัดระดับน้ำที่เกาะเมียง เป็นแบบเรดาร์ยิงความถี่ลงสู่พื้นน้ำทะเล โดยใช้แรงดันของน้ำสะท้อนคลื่นกลับมายังเรดาร์ แล้วส่งคลื่นความถี่ไปยังระบบประมวลผลเพื่อแปลงเป็นค่าของระดับน้ำ พร้อมส่งค่าดังกล่าวผ่านเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมแบบ REAL TIME ไปยังศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทกศาสตร์ สามารถแสดงผลของระดับน้ำที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เป็น 3 ระดับ คือ 5, 60 และ 120 วินาที มีการจัดเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วนทัพเรือภาคที่ 3 โทร 0-7639-1598 ทัพเรือภาคที่ 3 ขอให้ความมั่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ว่าทุกระบบเตือนภัยสินามิที่เกาะเมียงมีความพร้อม 100%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง