รีเซต

สงครามยูเครน วิกฤตน้ำมัน ไทยกระอักด้วย

สงครามยูเครน วิกฤตน้ำมัน ไทยกระอักด้วย
มติชน
7 มีนาคม 2565 ( 06:41 )
57
สงครามยูเครน วิกฤตน้ำมัน ไทยกระอักด้วย

แม้ทั่วโลกพยายามปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงาน หันมาใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือกมากขึ้น แต่น้ำมันก็ยังมีความสำคัญสูงและเป็นปัจจัยหลักในแทบทุกกิจกรรมเศรษฐกิจ เมื่อไหร่ที่กลุ่มผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ร่วมกันจำกัดปริมาณการผลิตเพื่อกดดันราคาให้สูงขึ้น หรือเกิดภาวะสงคราม ปัญหาน้ำมันขาดแคลนและราคาสูง จึงส่งผลกระทบไปทั่วทุกภูมิภาค

 

ย้อนเวลากลับไปก็พบว่าโลกต้องประสบวิกฤตการณ์น้ำมันมาแล้วหลายครั้งปี 2516-2517 นับตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลมาจากกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศอาหรับประกาศปรับเพิ่มราคาน้ำมันดิบ และใช้น้ำมันดิบเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองในช่วงที่กลุ่มประเทศอาหรับทำสงครามกับอิสราเอลปี 2516 เพื่อให้อิสราเอลถอนทหารออกจากดินแดนของตน ด้วยการลดปริมาณการผลิตและเพิ่มราคาน้ำมันดิบให้สูงขึ้น รวมทั้งยังจํากัดการจําหน่ายน้ำมันให้กับประเทศต่างๆ

 

กลุ่มประเทศอาหรับเป็นสมาชิกโอเปค มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดคือ ร้อยละ 68 ของผลผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของโลกในปี 2516 จึงใช้ความได้เปรียบนี้ร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตและเพิ่มราคาน้ำมันดิบ ทำให้สมาชิกโอเปคอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มประเทศอาหรับแห่ตามไปด้วย

 

ยิ่งสร้างแรงกดดันราคาน้ำมันโลก ก่อนที่ราคาน้ำมันจะค่อยๆ ลดลงมาปี 2522-2523 เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศอิหร่าน จากการที่ชาวอิหร่านปฏิวัติล้มล้างราชบัลลังก์ของกษัตริย์ชาห์ ปาเลวี ในปี 2521 ขยายวงกว้างทั่วประเทศ มีการประท้วงนัดหยุดงานของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และอุตสาหกรรมน้ำมัน ทําให้อิหร่านที่ผลิตน้ำมันเป็นอันดับ 4 ของโลกลดลงอย่างหนักจากวันละ 5.5 ล้านบาร์เรล เหลือเพียงวันละ 2-3 แสนบาร์เรลเท่านั้น

 

ปริมาณน้ำมันตลาดโลกลดลงจนเกิดการขาดแคลน ขณะที่บริษัทน้ำมันและประเทศอุตสาหกรรมเร่งซื้อกักตุนอีก ยิ่งทำให้การขาดแคลนเลวร้ายยิ่งขึ้น หลังจากปี 2523 สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย

 

ปี 2533-2534 ความวุ่นวายทางการเมืองจากสงครามอ่าวเปอร์เซียระหว่างอิรักและคูเวต อิรักภายใต้การนําของซัดดัม ฮุสเซน ส่งกองทัพเข้ารุกรานคูเวตในปี 2533 เนื่องจากไม่พอใจที่คูเวตผลิตน้้ำมันดิบเกินโควต้าที่โอเปคกําหนดไว้ จนทําให้ราคาน้้ำมันในตลาดโลกลดลงจากระดับบาร์เรลละ 21 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 14-17 ดอลลาร์สหรัฐ อิรักต้องสูญเสียรายได้มหาศาล จึงเปิดฉากส่งกําลังทางทหารเข้าโจมตีคูเวต โดยสามารถยึดสถานที่สําคัญและแหล่งน้ำมันจํานวนมาก ประเทศตะวันตกได้ประณามการรุกรานและประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับอิรัก

 

ในที่สุดต้นปี 2534 สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจึงใช้กําลังทางทหารเข้าโจมตีอิรัก กระทั่งอิรักยอมถอนทหารออกจากคูเวต

ปี 2542-2543 ภายหลังวิกฤตการณ์น้ำมันปี 2533-2534 บรรเทาลง ราคาน้ำมันของโลกอ่อนตัวลงอีกครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงราคาทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงตามลักษณะการใช้น้ำมันของโลก จนกระทั่งปี 2542 ราคาตลาดโลกก็เพิ่มสูงขึ้นจากความพยายามควบคุมปริมาณการผลิตของโอเปค เพื่อผลักดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อชดเชยรายได้จากวิกฤตต้มย้ำกุ้งปี 2540 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง

 

ขณะที่ภูมิอากาศในแอตแลนติกเหนือก็ไม่หนาวมาก ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจึงลดน้อยลง แต่ปริมาณการผลิตของโอเปคเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลิตเกินโควต้าของประเทศสมาชิก ทำให้ประเทศสมาชิกโอเปคและนอกโอเปคตกลงร่วมกันลดปริมาณการผลิต

 

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมากจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในไทยยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ปี 2550 แม้ทั่วโลกและประเทศไทยเผชิญวิกฤตน้ำมันมาหลายครั้ง แต่ในปี 2550 นับว่าราคาน้ำมันดิบทำสถิติสูงสุดรอบ 100 ปี ส่งผลให้ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 น้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เบนซิน 95 อยู่ที่ 102.92 เหรียญต่อบาร์เรล ดีเซลอยู่ที่ 110.79 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องมาจากปัจจัยหลักคือ 1.กำลังผลิตของโลกตึงตัวทำให้เกิดการเก็งกำไรจากเฮดจ์ฟันด์ 2.สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงทั้งอากาศที่หนาวเย็นและพายุเฮอร์ริเคน กระทบแหล่งผลิตโดยเฉพาะเฮอร์ริเคนดีนที่พัดเข้าอ่าวเม็กซิโกทำให้กระทบต่อการผลิต 3.ค่าเงินเหรียญสหรัฐที่อ่อนค่าลง 4.ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย 5.ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในขณะนี้ก็เช่นกัน ที่ทั่วโลกและประเทศไทยเลี่ยงไม่พ้น

 

วิกฤตการณ์น้ำมัน โดย “ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มุมมองความตึงเครียดที่เกิดขึ้นไม่เพียงกดดันราคาน้ำมัน หากยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อประเทศไทย ว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาชาติ จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยโดยตรงมากนัก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังรัสเซียและยูเครนคิดเป็นเพียง 0.43% ของมูลค่าการส่งออกรวม แต่อาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยได้ในหลายช่องทาง ได้แก่ 1.สงครามและมาตรการคว่ำบาตรอาจทำให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกขยายตัว ในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำคัญของไทย โดยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งรวมสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และกลุ่มสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) คิดเป็น 9.9% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

 

2.รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ รวมถึงสินค้าด้านการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ปุ๋ย ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และน้ำมันทานตะวัน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้


เพื่อการผลิตอุตสาหกรรม การเกษตร และปศุสัตว์ ในราคาที่แพงขึ้น และอาจทำให้ดุลการค้าปรับตัวแย่ลง 3.รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตแร่พาลาเดียมและก๊าซนีออนหลักของโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) จึงอาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยืดเยื้อกว่าที่คาด ส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ของไทย

 

ขณะที่ “คุรุจิต นาครทรรพ” ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผันผวนไม่มีเสถียรภาพและปรับราคาแพงขึ้นมาก ส่งผลต่อต้นทุนพลังงานของประเทศ เพราะไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ได้นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบ จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ราคาตลาดจรของก๊าซธรรมชาติเหลว (สปอต แอลเอ็นจี) ก็ปรับตัวแพงขึ้นอยู่ที่ 35 เหรียญต่อล้านบีทียู ซึ่งก๊าซเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าของไทย ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลงติดต่อกันมาหลายปี ทำให้ไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมากขึ้นด้วยส่งผลต่อค่าไฟให้แพงขึ้นช่วง 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้า สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งซ้ำเติมประชาชนมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง