รีเซต

ทุ่ม 1.5 พันล้าน หนุนแผนสู้ของแพง

ทุ่ม 1.5 พันล้าน หนุนแผนสู้ของแพง
มติชน
20 มกราคม 2565 ( 06:38 )
47
ทุ่ม 1.5 พันล้าน หนุนแผนสู้ของแพง

ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการของบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เพื่อดำเนินโครงการ พาณิชย์…ลดราคา ช่วยประชาชน ปี 2565 วงเงิน 1,480,000,000 บาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอจัดทำโครงการบน 4 วัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อประชาชนได้มีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันในราคาประหยัดได้มากขึ้น

โดยเฉพาะเป็นการช่วยให้สามารถเข้าถึงประชาชน อันเป็นการหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการบริโภคภาคครัวเรือน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ในเอกสารที่นำเสนอต่อ ครม. ระบุรายละเอียดไว้ว่า ดำเนินการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพให้แก่ประชาชนในราคาประหยัด ระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน

แผนการดำเนินงานประกอบด้วย 1.กิจกรรมบริหารจัดการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางจำหน่าย โดยจัดหาสถานที่จำหน่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น รถยนต์ พนักงานขับรถ พนักงานขาย เต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ป้ายราคา ป้ายประชาสัมพันธ์ ประจำจุดจำหน่าย พนักงานขนสินค้า เป็นต้น จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพผ่านช่องทาง ได้แก่ จำหน่ายผ่านบริเวณร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น หรือตลาด พื้นที่สาธารณะ หรือลานอเนกประสงค์ และสถานีบริการน้ำมัน รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 จุด ตามแหล่งชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และภูมิภาค 76 จังหวัด ประกอบด้วย

การจัดหาจุดจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ เพื่อจำหน่ายสินค้าให้แก่ประชาชน การจัดหาพนักงานขายของประจำจุดจำหน่าย การจัดหาสถานที่จัดเก็บสินค้า เพื่อรอกระจายไปยังจุดจำหน่าย และจัดหารถยนต์ หรือรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้าจากสถานที่จัดเก็บสินค้า ไปยังสถานที่จำหน่าย การจัดหาพนักงานปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสินค้า อาทิ พนักงานกำกับดูแลและดำเนินการสั่งสต๊อกสินค้า พนักงานควบคุมดูแล และจัดทำสต๊อกสินค้าที่อยู่ในสถานที่จัดเก็บสินค้า พนักงานรักษาความปลอดภัยสถานที่จัดเก็บสินค้า และพนักงานบริหารจัดการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลง

การจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนสำหรับจำหน่ายสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการจำหน่ายสินค้า และลดการใกล้ชิดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น ถังน้ำแข็ง เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ถุงมืออนามัย หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฉีดฆ่าเชื้อ ป้ายแสดงสัญลักษณ์ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เครื่องขยายเสียง (โทรโข่ง) เต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ตะกร้า เชือกกั้น เครื่องคิดเลขจำหน่ายสินค้า เครื่องชั่งสินค้า เป็นต้น รวมถึงการออกแบบและจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ เช่น ป้ายไวนิล หรือสติ๊กเกอร์ เป็นต้น พร้อมติดตั้งในบริเวณที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และการจัดทำป้ายแสดงราคา

2.จำหน่ายผ่านรถเคลื่อนที่ (Mobile) จำนวนไม่น้อยกว่า 50 คัน ตามแหล่งชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยจัดหารถยนต์ 4 ล้อ (รถโมบาย) พร้อมพนักงานขับรถ เพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 50 คัน และพนักงานขายของประจำพาหนะ การจัดหาสถานที่จัดเก็บสินค้า เพื่อรอกระจายไปยังพาหนะที่เข้าร่วมโครงการฯ และจัดหารถยนต์ หรือรถบรรทุกเพื่อขนส่งสินค้าจากสถานที่จัดเก็บสินค้า ไปยังสถานที่ที่พาหนะจอดซื้อ หรือขึ้นของ การจัดหาพนักงานปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสินค้าจัดกิจกรรมการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้า ที่จำเป็นต่อการครองชีพ เพื่อจัดหาและจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพตามชนิด ปริมาณและราคาตามที่กรมกำหนด เช่น สินค้าเกษตร เนื้อไก่ ไข่ไก่ สินค้าอุปโภคบริโภคเป็นต้น

จากสมาคม/ผู้ค้าปลีก/ค้าส่ง/ซัพพลาย ในพื้นที่ เพื่อจำหน่ายในจุดจำหน่าย กิจกรรมการประชาสัมพันธ์ เพื่อดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบในวงกว้างผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นการบริโภค

ก่อนหน้านี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลายสินค้าที่มีต้นทุนสูงและใช้การปรับราคา จะกลายเป็นปัญหาประชาชน ดังนั้น จะเร่งดำเนินการจัดโครงการลดราคาสินค้าให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะการลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงสั่งการให้กรมการค้าภายใน เร่งดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ในทุกช่องทางรวม 3,050 จุด และดำเนินการได้จริงภายในเดือนมกราคมนี้

แม้งบกลางที่ยื่นขอได้ผ่าน ครม.แล้ว แต่ประชาชนอย่างเราๆ ต้องใจเย็น รออีกระยะ อย่างเร็วสุดก็น่าจะกลางสัปดาห์หน้า อย่างช้าก็ก่อนเข้าเทศกาลตรุษจีน 3-5 วัน เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการจากนี้ จากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน และผู้ประกอบการเอกชนทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า เจ้าของสถานที่อย่างห้างร้านค้า หรือตลาดสด รวมถึงชุมนุมท้องถิ่น เพื่อการจัดการสถานการณ์และเครือข่ายในการวางจำหน่าย และระบบจัดส่งสินค้าเพื่อขายรายวัน

ดังนั้น ในการจัดหาสินค้าป้อนโครงการดังกล่าว ต้องหารือกันต่อเพื่อระบุรายการสินค้าและจุดจำหน่าย รวมถึงจัดหาพนักงานไปให้บริการ ทั้งนี้ เป้าหมายสินค้าราคาถูกในโครงการ เน้นประมาณ 15-20 ชนิด อาทิ เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำปลา น้ำตาลทราย เครื่องปรุงอาหาร ผักสด อาหารแห้ง รวมถึงของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน เป็นต้น

เรื่องนี้ในวงการค้าปลีกรายเล็กๆ มองอย่างไร สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ระบุว่า โครงการหาสินค้าถูกมาจำหน่ายตรงกับประชาชน ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำกันมาตลอด ในวงการมองว่าเป็นการแก้ความรู้สึกว่าสินค้าแพงแล้วรัฐต้องออกมาแก้ไข ดังนั้น ไม่กระทบตรงต่อการค้าขายของร้านทั่วไป ซึ่งหากการแก้ปัญหาของแพงและได้ผลจริงยั่งยืน ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุว่าแพงเพราะอะไร อย่างหมู หรือเนื้อสัตว์ราคาแพงตามการแพงขึ้นของอาหารสัตว์ หากในประเทศแพงก็ควรนำเข้าเสรีจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หรืออาหาร และของกินอื่นๆ แพงขึ้นจากน้ำมันปาล์มที่เป็นวัตถุดิบหลักสูงขึ้นมาก ที่ต้องใช้ทอด หรือแปรรูป หรือผสมในเครื่องปรุง ก็ควรใช้หลักเหมือนกันคือ นำเข้าจนกว่าราคาวัตถุดิบนั้นๆ ถูกลง โดยไม่เห็นด้วยที่จะให้นำเข้าตัวสินค้า เช่น ตอนราคาข้าวเหนียวแพงปล่อยให้นำเข้า พร้อมในประเทศเร่งปลูก ปรากฏว่า ต่อจากนั้นอีก 1 ปี ข้าวเหนียวราคาตกต่ำ

หากไม่แก้ตรงจุด ใช้เงินทุ่มไม่ว่าจะกี่พันล้าน ก็เหมือนใช้ยาหม่องแก้วิงเวียนเฉพาะหน้าเรื่อยไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง