“นภินทร” นำพณ.โรดโชว์ผลไม้ไทยในฮาร์บิน ฉลองสัมพันธ์ 50 ปีไทย-จีน

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้านานาชาติ Harbin International Economic and Trade Fair หรือ HTF ครั้งที่ 34 ที่เมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนาย ฉวู่ ฉิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน มณฑลเฮยหลงเจียง เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งงานนี้ มีผู้แทนภาคเอกชน และรัฐบาลในหลายประเทศเข้าร่วม อาทิ นางเหลียง ฮุ่ยหลิง ผู้ว่าการมณฑลเฮยหลงเจียง /รองผู้ว่าการมณฑลซานตง /อธิบดีสำนักงานการค้าการลงทุน ประเทศมองโกเลีย/ ผู้จัดการศูนย์การส่งออกรัสเซีย/รองผู้ว่าการเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น /ผู้แทนประธานาธิบดีประเทศคีร์กีซสถาน ประจำเมืองฮาร์บิน /บริษัท เนสกาแฟ /บริษัท CaseIH (อ่านว่า เครส ไอ เอช ) เป็นต้น
สำหรับงานแสดงสินค้านานาชาติ Harbin International Economic and Trade Fair (HTF) ซึ่งปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็น “ประเทศแขกกิตติมศักดิ์” เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีน โดยภายในงานมีการจัดแสดงผลไม้ไทย ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคจากผู้ประกอบการไทย
นายนภินทร กล่าวปาฐกถาพิเศษ ว่า นงานแสดงสินค้าฮาร์บิน อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ เทรด ครั้งที่ 34 ซึ่งเป็นเวทีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในวาระครบรอบ การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 50 ปี ในปีนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนนั้น มิได้เป็นเพียงความสัมพันธ์ทางการทูตที่ยาวนานเพียง 50 ปี แต่คือสายใยของมิตรภาพที่หยั่งรากลึก ในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ตั้งแต่ระดับผู้นำจนถึงประชาชนทั้งสองประเทศ ตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ความร่วมมือไทย-จีนได้วิวัฒน์ขึ้นเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ที่มีความครอบคลุมหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในศตวรรษ ที่ 21 ในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความผันผวน เราต่างต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของกฎระเบียบทางการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายของระบบห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยและจีนจึงยิ่งทวีความสำคัญ
จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยติดต่อกันหลายปี โดยมีมูลค่าการค้ารวมในปีที่ผ่านมา กว่าประมาณ 8.1 แสนล้านหยวน ซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในด้านการส่งออก จีนถือเป็นตลาดสำคัญที่สุดของสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร ยางพารา และ ผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของไทย ในขณะเดียวกัน การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากจีนก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาคการผลิตและอุตสาหกรรมไทย
ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนไม่ได้ดำเนินอยู่ในระดับทวิภาคีเท่านั้น หากแต่ขยายตัวผ่านกรอบการค้าเสรีระดับภูมิภาค จาก อาเซียน ไชน่า เอฟทีเอ สู่ อาร์เซป ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีจีนเป็น แรงขับเคลื่อนหลัก ความตกลงเหล่านี้เปิดประตูให้ภาคธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงตลาดจีนได้กว้างขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนข้ามพรมแดน
นายนภินทร ยังชี้ว่า ไทยและจีนยังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านความร่วมมือเชิงรุกด้านโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อประเทศไทย ผ่าน สปป.ลาว สู่จีนตอนใต้ และอาศัยโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของจีนในการกระจายสินค้าสู่จีนตอนเหนือแลตะวันออกเฉียงเหนือมายังมณฑลเฮยหลงเจียง นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ไทยยังมีการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก ในกลุ่ม อุตสาหกรรมดิจิทัล (ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรม ยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ฯลฯ โดยการลงทุนจากบริษัทจีน มีมากถึง 810 โครงการ โดยไทยยังเปิดรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือการลงทุนในอนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศมณฑลเฮยหลงเจียง แม้ว่าจะเป็นมณฑลตั้งอยู่ห่างไกลจากประเทศไทยมากที่สุด แต่เมืองฮาร์บินก็มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของคนไทยในด้านการท่องเที่ยวเทศกาลน้ำแข็ง ฮาร์บิน อินเตอร์เนชั่นแนล ไอซ์ แอนด์ สโนว์ เฟสติวัล อย่างไรก็ดี ผมทราบว่ามณฑลเฮยหลงเจียงมีอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ในทุกด้าน ทั้งแหล่งผลิตธัญพืชที่สำคัญ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ทันสมัย และ เป็นแหล่งผลิตธัญพืชอันดับ 1 ของจีน จึงเห็นว่าไทยและจีนมีโอกาสร่วมกัน ในหลายมิติเช่น สินค้าเกษตรคุณภาพสูง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการมาเยือนนครฮาร์บินในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ประเทศไทยกับมณฑลเฮยหลงเจียง จะสามารถกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติที่ใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยแนวทาง 3 ประการ อันได้แก่
(1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับนโยบายผ่านการเจรจาและกลไกความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยและหน่วยงานด้านการค้าของจีน
(2) สนับสนุนภาคเอกชนให้เข้าถึงโอกาสในตลาดจีน โดยเฉพาะ SME และเกษตรกรไทย ผ่านการพัฒนาแบรนด์ การรับรองมาตรฐาน และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงการมีส่วนร่วมในงานแสดงสินค้าที่สำคัญ
(3) พัฒนาแพลตฟอร์มเศรษฐกิจการค้าแบบยั่งยืน โดยใช้หลัก บีซีจี อีโคโนมี สร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ไทย-จีน คือเสาหลักแห่งความมั่นคงและมั่งคั่งของภูมิภาคเอเชีย ความร่วมมือทางการค้าไม่ใช่เพียงตัวเลขของมูลค่าการส่งออกหรือโครงการลงทุนเท่านั้น แต่คือการเชื่อมโยงระหว่างผู้คน อุดมการณ์ และอนาคตร่วมกัน
นายนภินทร กล่าวอีกว่า ในนามของกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย ขอบคุณอีกครั้ง สำหรับการได้รับเกียรติให้ประเทศไทยเป็นประเทศแขกกิตติมศักดิ์ ในงานแสดงสินค้าฮาร์บิน อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ เทรด ครั้งที่ 34 ที่สำคัญยิ่ง และทำให้ผมได้มีโอกาสมาเยือนนครฮาร์บินที่สวยงามแห่งนี้ ผมขอยืนยันว่า ประเทศไทยยังคงเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดของจีน ในการก้าวไปข้างหน้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่อย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังคำกล่าวว่า “จงไท่ อี้เจีย ชิน – จีนไทยเป็นครอบครัวเดียวกัน”