รีเซต

ส่องนโยบายอีวี สมอ.ลุยศูนย์ทอดสอบ-160มาตรฐานพรัอมแล้ว!!

ส่องนโยบายอีวี สมอ.ลุยศูนย์ทอดสอบ-160มาตรฐานพรัอมแล้ว!!
มติชน
23 พฤศจิกายน 2564 ( 06:50 )
82

ทราบกันดีว่าหนึ่งในอุตสาหกรรมเส้นเลือดใหญ่ของไทย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ และถือเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคอาเซียน!!

 

ล่าสุด ปี 2564 ประเทศไทยจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงและวงกว้าง และปัญหาขาดแคลนชิป ชิ้นส่วนสำคัญในการผลิต แต่ด้วยตลาดส่งออกที่ยังเติบโตอยู่ บวกกับความไม่ยอมแพ้ของบรรดาค่ายรถ ผู้ผลิตชิ้นส่วนตลอดซัพพลายเชนที่เชื่อมโยงกับแรงงานในระบบรวมประมาณ 7.5 แสนราย แม้เผชิญกับโรคและการล็อกดาวน์ ในที่สุดทั้งตลาดส่งออกและตลาดในประเทศก็เติบโตต่อไปได้

 

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์เป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้ไว้ที่ 1,550,000-1,600,000 คัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อขายในประเทศ 750,000 คัน และส่งออก 850,000 คัน จำนวนนี้ทางกลุ่มยานยนต์ค่อนข้างมั่นใจว่ายอดการจำหน่ายในประเทศน่าจะได้ตามเป้าหมาย ขณะที่การส่งออกขอจับตาดูตัวเลขช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2564) อย่างไรก็ตาม หากตลาดส่งออกเติบโตเพิ่มขึ้นอีก ยอดส่งออกของไทยอาจปรับขึ้นเป็น 870,000 คัน ก็ได้

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งกว่า 90% เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน คือ ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง ถือว่าไปได้ดี ขณะเดียวกันการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ควบคู่ เพื่อตอบโจทย์ทิศทางโลกเพื่อมุ่งพลังงานสะอาด ประเทศไทยก็เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

 

ภายใต้การทำงานของบอร์ดอีวี หรือคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ชุดปัจจุบันที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์Ž รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดเป้าหมายภายในปี พ.ศ.2573 หรือ ค.ศ.2030 ไทยจะมีสัดส่วนของรถยนต์อีวี คิดเป็น 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ระหว่างขับเคลื่อนภายใต้การทำงานของคณะทำงานชุดๆ ต่างที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

โดยเฉพาะกระทรวงการคลังเวลานี้กำลังถูกจับตา เพราะเตรียมประกาศมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนรถยนต์อีวีให้เกิดขึ้นอย่างจริงในประเทศไทย หลังจากสนับสนุนมาระยะหนึ่ง แต่ด้วยโจทย์ไก่กับไข่ ระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อ จึงยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ แต่ล่าสุด รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ยืนยันว่าแล้วว่าจะมีความชัดเจนภายสิ้นปีนี้ เพื่อเริ่มแพคเกจกระตุ้นในปี 2565

 

อย่างไรก็ตาม แม้องค์ประกอบต่างๆ จะเดินหน้าไปด้วยดี แต่อีกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งรถยนต์สันดาปภายในและอีวี อย่าง โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติŽ วงเงินงบประมาณ 3,705.7 ล้านบาท บนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กลับไม่ได้รับการขับเคลื่อนจากหน่วยงานด้านงบประมาณเท่าที่ควร เพราะปีงบประมาณ 2565 โครงการนี้ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแม้แต่บาทเดียว!!

 

โครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาพยายามเสนอความจำเป็นแต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาทบทวนจัดสรรให้แต่อย่างใด

 

ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าโครงการนี้เริ่มต้นปี 2559 กำหนดเสร็จปี 2563 แต่ได้รับงบประมาณไม่ต่อเนื่อง ทำให้ต้องขยายเวลากำหนดเสร็จขยับเป็นปี 2567 ปัจจุบันได้งบประมาณแล้ว 2,000 ล้านบาท ยังขาดอีก 1,700 ล้านบาท เมื่อปีงบประมาณ 2565 ไม่ได้รับการจัดสรร สมอ.จึงเตรียมเสนอของบอีกครั้งในปีงบประมาณ 2566 ล่าสุด คาดว่าโครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568

บรรจง สุกรีฑาŽ เลขาธิการ สมอ. ระบุว่า ภารกิจของโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ ระยะ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ประกอบด้วย สนามทดสอบยางล้อ และเครื่องมือทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 ทดสอบรายการเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก และความต้านทานการหมุนของยางล้อ อาคารสำนักงาน และอาคารปฏิบัติการทดสอบยางล้อ พร้อมระบบสาธารณูปโภคสำหรับใช้ในโครงการในระยะที่ 1 โดยได้มีการดำเนินการจัดทำแผนหลัก การใช้พื้นที่ในภาพรวมทั้งโครงการ ปรับพื้นที่ 200 ไร่ ออกแบบและก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อ พร้อมทั้งดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งชุดเครื่องมือทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117

ปัจจุบันการก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อแล้วเสร็จ และได้รับการรับรองสนามทดสอบจาก APPLUS+ IDIADA ราชอาณาจักรสเปน สนามทดสอบเป็นตามมาตรฐาน UN R117 และพื้นผิวสนามทดสอบเสียงเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 10844:2014 ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เปิดให้บริการทดสอบแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 ขณะที่การก่อสร้างอาคารสำนักงาน ห้องปฏิบัติการทดสอบ และระบบสาธารณูปโภค อยู่ในระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีงบประมาณ 2565

เลขาฯบรรจงให้ข้อมูลเพิ่มว่า ระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ประกอบด้วยสนามทดสอบ 5 สนาม คือ 1.สนามทดสอบสมรรถนะยานยนต์ 2.สนามทดสอบระบบเบรก 3.สนามทดสอบระบบเบรกมือ 4.สนามทดสอบเชิงพลวัต และ 5.สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง

เครื่องมือทดสอบตามมาตรฐาน รวม 19 รายการ และระบบสาธารณูปโภคสำหรับโครงการในระยะที่ 2 ได้ดำเนินการปรับพื้นที่ 700 ไร่ ออกแบบสนามสำหรับทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ก่อสร้างสนามทดสอบระบบเบรก สนามทดสอบระบบเบรกมือ สนามทดสอบพลวัต และสนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้งแล้วเสร็จ พร้อมทั้งจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ ตามมาตรฐาน UN R16 ชุดเครื่องมือทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัยระบบยึดแบบไอโซฟิก และจุดยึดไอโซฟิกทอปเทเทอร์ ตามมาตรฐาน UN R14 และชุดเครื่องมือทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศีรษะสำหรับใช้ในยานยนต์ ตามมาตรฐาน UN R17 และตามมาตรฐาน UN R25 ติดตั้งและส่งมอบแล้วเสร็จ และชุดทดสอบห้ามล้อสำหรับรถยนต์บรรทุก และห้ามล้อสำหรับรถยนต์ ตามมาตรฐาน UN R13 และ UN R13H คาดว่าจะติดตั้งและส่งมอบแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2565

การดำเนินการในส่วนที่เหลือ ได้แก่ การก่อสร้างสนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว จัดหาชุดเครื่องมือทดสอบ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างและจัดหาได้เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2566 จำนวนประมาณ 1,615 ล้านบาท ทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2568

สมอ.พยายามผลักดันของบประมาณปี 2566 ต่อไป และระหว่างนี้ได้ตั้งเป้าหมายต้นปี 2565 จะเปิดให้บริการทดสอบตามมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้า UNECE R100 (รถยนต์ไฟฟ้า) และ UNECE R136 (รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี ตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมŽ

เลขาฯบรรจงŽ ระบุอีกว่า ล่าสุด สมอ.เร่งจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าจนคืบหน้าไปมาก รวม 106 เรื่อง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 58 เรื่อง อยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนาม 33 เรื่อง และอยู่ระหว่างจัดทำ 15 เรื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

ข่าวที่เกี่ยวข้อง