ทำให้อเมริการวย แต่ตัวเองจนลง ? อีลอน มัสก์ ประกาศถอยการเมือง

มหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของโลก "อีลอน มัสก์" ประกาศจะถอยจากบทบาทการเมือง
เพื่อกลับโฟกัส มาดูแล "เทสลา" Tesla ลูกรักมากขึ้น
เพราะตอนนี้เข้าขั้นวิกฤต กำไรหดหายไปแล้วกว่า 70 % แถมยังโดนต่อต้านและโจมตีทางการเมืองอย่างหนัก
และยังไม่นับรวมอนาคตที่ยังต้องรับแรงกระแทกจากสงครามการค้าโลกอีกมากมาย
ดังนั้นจึงจับตาดูบทบาทและความเคลื่อนไหวของอีลอน มัสก์ หลังจากนี้ให้ดีว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
หลังจากที่ผ่านมาได้จับมือเคียงข้างกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ
หวังจะปลุกปั้นสหรัฐให้กลับมายิ่งใหญ่และร่ำรวยอีกครั้ง
แต่ดูเหมือนว่าความรวยของอีลอน มัสก์ต่างหากที่กำลังวูบหายไป
เทสลา (Tesla) ของอีลอน มัสก์ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ กำลังเจอกับภาวะวิกฤต
เมื่อผลประกอบการไม่สดใสเหมือนแต่ก่อน ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดอยู่แล้วในสงครามอีวี
โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญอย่าง"บีวายดี" BYD จากจีน และยังเจอกับแรงกระแทกทางการเมือง
หลังจากที่ อีลอน มัสก์ ทำงานเคลื่อนไหวเป็นเงาหรือมือขวาให้กับผู้นำสหรัฐ
ซึ่งนโยบายต่างๆที่เรียงรายประกาศออกมา ก็ต่างสร้างฟีดแบกผลตอบรับในทางลบมากกว่าบวก
โดยเฉพาะการไปนั่งเป็นหัวหน้าทีม ให้กับ กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency – DOGE)
จากนั้นก็สั่งปลดคน เลิกจ้าง ยุบหน่วยงานต่างๆ สร้างความไม่พอใจให้กับคนที่รับผลกระทบอย่างมาก
รวมไปถึงมาตรการต่างๆของทรัมป์ เช่น การขึ้นภาษีศุลกากรไปยังชาติต่างๆด้วย
เทสลา กลายเป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลทรัมป์และอีลอน มัสก์
จึงต้องโดนหางเลข ถูกประท้วงต่อต้านอย่างหนักด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในอเมริกา
แต่ข้อมูลจากเอพีและรอยเตอร์รายงานว่ามีการประท้วงเทสลาไปไกลถึงฝั่ง "ยุโรป"
ตั้งแต่ลอนดอน เบอร์ลิน ไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐอย่างแคนาดาก็ด้วย
ที่สำคัญ หลายครั้งไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ
ซึ่งมีรายงานข่าวว่าสถานีชาร์จไฟ และโชว์รูมของเทสลาโดนโจมตี
ตั้งแต่การพ่นสี ทุบ ทำลาย ไปถึงจุดไฟเผาให้เสียหาย
แม้กระทั่งคนที่ขับเทสลาก็ไม่รอด มีคนทุบรถ พ่นสี และหลายคนก็ถึงขั้นเอารถไปขายทิ้่ง
ท่ามกลางการรณรงค์ไม่ซื้อไม่ขับเทสลา ที่ทำให้ยอดขายย่้ำแย่
หรือแม้กระทั่งคนที่มีหรือขับเทสลาอยู่แล้ว ต่างก็พากันขายทิ้งมากขึ้น
อ้างอิงจากรายงานของ CNBC ที่ระบุว่ามียอดการนำรถเทสลา ไป Trade in
เพื่อซื้อรถยี่ห้ออื่นพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม 2568
ตามรายงานจากเว็บไซต์ซื้อขายรถชื่อดัง Edmunds
ซึ่งระบุว่านี่เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้นับตั้งแต่เปิดให้บริการ
ช่วงแรกที่อีลอน มัสก์ ประกาศหนุนทรัมป์ในการเลือกตั้งช่วงปลายปีก่อน
ทำให้หุ้นของเทสลาได้รับความสนใจพุ่งขึ้นมาอย่างร้อนแรง
แต่นับถึงเวลานี้ราคาหุ้นร่วงลงไปแล้วกว่า 40 % และยังคงผันผวน
ส่วนกำไรบริษัทก็ติดลบไปแล้วกว่า 70 %
ผลประกอบการของเทสลา ไตรมาสแรกของปีนี้ออกมาย่ำแย่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งรายได้และกำไร โดยรายได้จากธุรกิจยานยนต์ติดลบไปถึง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน
อยู่ที่ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 19,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 21,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9% จากปีก่อนหน้า
ทั้งนี้เทสลาระบุว่า รายได้ที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากการส่งมอบรถยนต์ที่ลดลง
เนื่องจากมีการปรับไลน์การผลิตในโรงงานทั้ง 4 แห่งเพื่อเตรียมผลิตรุ่นใหม่ของ Model Y
รวมถึงราคาขายเฉลี่ยของรถยนต์ที่ถูกลง ทำให้ส่งผลถึงตัวเลขกำไร
ที่สำคัญ คือ เมื่้อส่องไปที่กำไรสุทธิของเทสลา
ปรากฎว่าวูบลงไปอย่าหนัก ติดลบถึง 71% จากปีก่อนหน้า
จากที่ทำได้ถึง 1,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีก่อน
เหลือเพียง 409 ล้านดอลลาร์ หรือ 12 เซนต์ต่อหุ้นเท่านั้น
ส่วนภาพรวมของหุ้น Tesla ดิ่งลงมาแล้วกว่า 41% ในปีนี้
โดยไตรมาสแรกถือเป็นช่วงที่หุ้นตกหนักที่สุดในรอบสามปี
และยังคงผันผวนตามความไม่แน่นอนจากนโยบายทรัมป์
แต่อย่าลืมว่าไตรมาสแรกหรือสามเดือนแรกของปีนี้
ภาษีทรัมป์หรือการขึ้นภาษีทั้งรถยนต์ และสินค้านำเข้าต่างๆ
ยังแทบไม่มีผล แต่หลังจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน จะหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ
แม้จะมีการวิเคราะห์ว่าเทสลา น่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาค่ายรถต่างๆ
แต่สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เทสลายอมรับว่า สถานการณ์ภาษีศุลกากรในปัจจุบัน
จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานของบริษัทมากกว่าธุรกิจรถยนต์
และเทสลากำลังดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพของธุรกิจในระยะกลาง-ยาว
รวมทั้งจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาความแข็งแกร่งของธุรกิจ
และล่าสุด อีลอน มัสก์ ได้ออกมาประกาศว่า
จะขอลดบทบาททางการเมืองกับรัฐบาลสหรัฐ
เพื่อกลับมาโฟกัสกับงานบริหารเทสลา
และจะเริ่มตั้งแต่พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป
อีลอน มัสก์ ออกมาให้คำมั่นกับสาธารณชนว่าตั้งเดือนหน้าหรือพฤษภาคมนี้
เค้าจะขอลดบทบาทตัวเองลงจากรัฐบาลสหรัฐแล้ว
เพื่อมาโฟกัสที่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาแทน โดยบอกว่าหน้าที่ของเค้า
ในตำแหน่งหัวหน้ากระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ DOGE กำลังจะเสร็จสิ้นลงในไม่ช้า
มัสก์ประกาศว่า เขาจะลดเวลาการทำงานให้กับรัฐบาลลงเหลือแค่ 1-2 วันต่อสัปดาห์
ถ้าหากว่าทรัมป์ยังอยากให้เขาทำงานให้อยู่ และคิดว่าการทำงานของเขายังเป็นประโยชน์อยู่
อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้มัสก์อยากถอนตัวออกจากการทำงานให้กับทรัมป์ครั้งนี้
อาจเป็นเพราะเรื่องการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีน และการขึ้นภาษีรถยนต์
เพราะมัสก์ก็เป็นนักธุรกิจรับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรง
เนื่องจากเทสลาก็มีโรงงานผลิตรถยนต์อยู่ที่ประเทศจีน
และแม้ว่ารถเทสลาที่ขายในสหรัฐฯ จะผลิตจากโรงงานในสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นรถเทสลาที่นำเข้าจากประเทศจีน
แต่ว่าก็ยังต้องพึ่งพิงชิ้นส่วนและอะไหล่ที่ต้องนำเข้าจากจีนอีกหลายอย่าง และเมื่อเจอภาษีก็ไปกระทบต่อต้นทุน
ข้อมูล : สะท้อนจากผลสำรวจล่าสุดของ CNBC เผยความคิดเห็นของสาธารณชนต่อ อีลอน มัสก์ และบริษัท Tesla
กำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างชัดเจน โดยคนอเมริกันครึ่งหนึ่งมอง อีลอน มัสก์ ในแง่ลบเพิ่มมากขึ้น
ผลสำรวจ "All-America Economic Survey" ของ CNBC ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 เมษายนที่ผ่านมา
พบว่า 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีมุมมองเชิงลบต่อ อีลอน มัสก์ และ 47% ไม่รู้สึกดีกับ Tesla
ในส่วนของ อีลอน มัสก์ เอง ก็ได้รับคะแนนความนิยมที่ลดลง โดยมีเพียง 36% เท่านั้นที่มองเขาในแง่ดี