ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ไทย "ส่งออกรถไฟฟ้า" ล็อตแรกสำเร็จ 660 คัน ยอดผลิต EV ในประเทศเร่งตัวขึ้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะโฆษกฯ ส.อ.ท. เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดรถยนต์ เดือนเมษายน 2568 ว่า จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนเมษายน 2568 มีทั้งสิ้น 104,250 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2568 19.75% และลดลงจากเดือนเมษายน 2567 0.40% ผลิตต่ำสุดในรอบ 44 เดือน ซึ่งลดลงไม่มากเพราะมีการผลิตรถยนต์นั่ง และรถ SUV ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น ทั้ง BEV เพิ่มขึ้น 639.75% PHEV เพิ่มขึ้น 319.11% และ HEV เพิ่มขึ้น 35.31%
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลิตรถยนต์นั่งสันดาปภายในลดลง 33.60 %เพราะผลิตรถยนต์นั่งส่งออกลดลงถึง 36.93% เนื่องจากมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์บางรุ่น รถกระบะยังคงผลิตลดลง 3.06% เพราะผลิตขายในประเทศลดลง 33.16 % ตามยอดขายรถกระบะในประเทศที่ยังคงลดลง 22.25%จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 456,749 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - เมษายน 2567 11.96 %
สำหรับการผลิตเพื่อส่งออกเดือนเมษายน 2568 ผลิตได้ 67,085 คัน เท่ากับ 64.35% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ที่อัตรา 6.73% ส่วนเดือนมกราคม - เมษายน 2568 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 303,881 คัน เท่ากับ 66.53% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2567 ระยะเวลาเดียวกัน 12.07%
ทั้งนี้ การส่งออกเริ่มส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นเดือนแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ส่งออกในเดือนเมษายน ถือเป็นครั้งแรกจำนวน 660 คัน มีสัดส่วน 1.43% ของการส่งออกทั้งหมด ในปี 2567 ไม่มีการส่งออก
นายสุรพงษ์กล่าวว่า “ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เลยว่ามีการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อส่งออกได้แล้วจำนวน 660 คัน”
ส่วนเดือนเมษายน 2568 ส่งออกได้ 65,730 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 18.77 %และลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ที่ 6.31% เพราะมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์นั่งบางรุ่น และการเข้มงวดในเรื่องเทคโนโลยีช่วยเหลือเรื่องความปลอดภัย และการปล่อยคาร์บอนในบางประเทศคู่ค้า รถยนต์ HEV จึงส่งออกเพิ่มขึ้น 87.96% แต่จำนวนไม่มาก จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ คงต้องติดตามผลการเจรจาของประเทศไทย และประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาต่อไป
ทั้งนี้นายสุรพงษ์ กล่าวว่า แม้ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะขยับขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ภาพรวมตลาดรถยนต์ไทยในยังคงซบเซา โดยเฉพาะการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงยอดผลิตที่ต่ำสุดในรอบ 44 เดือนจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัว พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีการปรับเป้าในช่วงกลางนี้ โดยขอเวลาอีก 1-2 เดือนจะเห็นความชัดเจนเรื่องการเจรจามาตรการภาษีกับสหรัฐฯ ขณะที่สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยังอยู่ในช่วงที่ต้องจับตาดูต่อไปอีก 2-3 ปีจึงจะบอกได้ว่าพ้นจากวิกฤตหรือไม่