วิกฤต "รถมือสองศูนย์ไมล์" คืออะไร ใครได้-ใครเสีย ?

"รถมือสองศูนย์ไมล์" รถใหม่จากโรงงานกลายเป็นมือสองได้อย่างไร?
รถมือสอง ปกติต้องผ่านมือคนขับมาก่อนถึงจะเรียกว่ามือสองได้ แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศจีน ล่าสุดเกิดดราม่า รถมือสองศูนย์ไมล์ เพราะเป็นรถใหม่ป้ายแดง ไม่มีใครขับ แต่โดนประทับตราเป็นมือสอง แล้วเอาไปขายต่อ ถามว่าทำไปเพื่ออะไร ได้อะไรจากเรื่องนี้ แต่เรื่องนี้ยังเป็นปมดราม่า เพราะไม่มีค่ายรถเจ้าไหนออกมายอมรับ ว่าเกิดขึ้นจริง
ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อุตสาหกรรมรถยนต์จีนกำลังถูกแฉ หรือเปิดโปงว่า มีการบิดเบือนตัวเลขยอดขายมาหลายปี ผ่านตลาดมืดในประเทศ เรียกว่าขบวนการ รถมือสองศูนย์ไมล์ซึ่งหมายถึงการเอารถใหม่ๆป้ายแดงที่เพิ่งออกจากสายการผลิต เอาไปจดทะเบียนว่าเป็นรถมือสอง ทั้งๆที่ ยังไม่มีใครซื้อ ยังไม่มีใครใช้งาน หรือขับ แบบที่ไมล์หน้ารถไม่กระดิก หรือเป็นศูนย์ไมล์ จากนั้นก็ส่งออกไปขายตามตลาดต่างประเทศ เช่น รัสเซีย เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง โดยผู้ส่งออกจะซื้อรถคันนั้นโดยตรงจากผู้ผลิตหรือดีลเลอร์ จากนั้นจดทะเบียนรถด้วยป้ายทะเบียนจีน และทันทีที่จดทะเบียนเสร็จ ก็ประกาศสถานะรถคันนั้นเป็น “รถมือสอง”
สิ่งที่ได้ ก็คือ ทำให้เจ้าของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้ในจีน มียอดขายที่เติบโตพุ่งแรงและได้กำจัดรถยนต์ที่ขายไม่ออกภายในตลาดในประเทศได้ด้วย
แม้กระทั่งสื่อของจีนเองยังทนไม่ไหวออกมาประณามขบวนการขายรถมือสองปลอมของค่ายรถในจีนโดยคนที่ออกโรงครั้งนี้ ก็คือ พีเพิล เดลี (People’s Daily) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์จากพรรคคอมมิวนิสต์จีน เผยแพร่บทบรรณาธิการ วันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยตีข่าวเรียกร้อง ขอให้บรรดาผู้ผลิตยานยนต์จีนยกเลิกการขาย รถมือสองเลขไมล์เป็นศูนย์ เป็นการแข่งขันอย่างไม่ยุติธรรม บิดเบือนข้อมูลยอดขาย เป็นผลเสียกับตลาดรถ ทั้งมือหนึ่งและมือสองด้วย และยังอาจมีผลกระทบหนักลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นหายนะของอุตสาหกรรมทั้งประเทศได้
ทั้งนี้ ขบวนการ รถมือสองปลอม เป็นผลมาจากสงครามราคาในประเทศจีน อย่างที่เรารู้กันว่ามีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด มีการหั่นราคากันอย่างร้อนแรง ซึ่งสื่อจีน ได้เรียกร้องให้บรรดาค่ายรถเลิกสนใจแต่ตัวเลขยอดขาย แล้วขอให้หันมาพัฒนาเทคโนโลยีกับการบริการแทน รวมไปถึงแนะนำให้คนซื้อหรือผู้บริโภคเอง ก็ควรเลิกสนใจแต่ราคา แต่ควรกลับมาดูที่คุณภาพของสินค้าและบริการหลังการขายด้วย
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนขณะนี้ เป็นผลพวงมาจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศจีนเองด้วย กำลังซื้อในประเทศที่กำลังอ่อนแอ แถมยังเจอกับสงครามการค้า ภาษีทรัมป์ซ้ำเติมเข้าไปอีก บรรยากาศการค้าขายในประเทศตอนนี้จึงเต็มด้วยสงครามราคา สินค้าแทบทุกอย่างตั้งแต่ของกินยันของใช้พากันลดกระหน่ำ เพื่อเรียกลูกค้า เพราะสินค้าในประเทศล้นตลาด ขณะที่การส่งออกก็กำลังถูกกีดีกันจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ
แน่นอนว่าสงครามราคาส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนด้วยเช่นกัน และกระทบอย่างหนัก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีค่ายรถมากมายหลากหลายที่เปิดตัว และต้องแข่งกันแย่งลูกค้า ทำยอดขายให้ได้ตามเป้าที่วางไว้
การนำรถใหม่ที่ค้างสต็อกมาลดราคาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ ที่บรรดาค่ายรถจีนมองว่ามีประสิทธิภาพในการระบายสินค้า โดยมีลูกค้าจากทั้งในและนอกประเทศต่างให้ความสนใจ เพราะได้ส่วนลดที่มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ แต่อาจไม่ทราบถึงข้อเสียที่อาจติดมาด้วย
พีเพิลส์ เดลี ระบุว่า สำหรับคนขาย อาจมาช่วยลดสินค้าค้างสต็อกได้ในระยะสั้นๆ แต่ก็ทำให้ได้กำไรน้อยลง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดทุนด้วย แถมยังไปกระทบกับการลงทุนเพื่อคุณภาพสินค้าและการสร้างนวัตกรรม นับเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน บริษัทจะอ่อนแอ และยังเป็นการละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของผู้บริโภคอีกด้วย
ส่วนลูกค้าหรือผู้ซื้อที่คิดได้ของถูกก็อาจต้องเจอกับของแถมที่ซ่อนมาด้วย เช่น สิทธิประโยชน์ทางกฎหมายของการมีรถมือหนึ่ง แบตเตอรี่ที่อาจเสื่อมสภาพ และขายต่อไม่ได้ราคา
ทั้งนี้กระแสวิจารณ์ในจีนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากประธานบริษัท "Changan" ฉางอัน ก็ได้ออกเรียกร้องให้มีปราบปรามการส่งออกรถมือสองปลอม เพราะอาจทำลายภาพลักษณ์แบรนด์จีนในต่างประเทศได้
เรื่องใหญ่ระดับชาติ "จีน" ทางออกอยู่ตรงไหน ?
เรื่องใหญ่ขนาดนี้ และสื่อจีนก็ออกข่าวครึกโครม หมายความว่าทางการจีนรู้ปมปัญหานี้แล้ว ซึ่งข้อมูลมีหลายทาง สื่อจีนบอกว่ารัฐบาลกำลังหาทางแก้ไข แต่ในมุมสื่อตะวันออกก็อ้างว่ารัฐบาลท้องถิ่นของจีนเองนั่นแหละ แอบทำและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้
พีเพิล เดลี สื่อของจีนยังรายงานและระบุอีกด้วยว่ารัฐบาลจีนได้รับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามหาทางควบคุมแก้ไข โดยบอกว่ามีมาตรการหลายอย่างที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง เพื่อคุมความเสถียรภาพในตลาด มีการเรียกผู้บริหารจากบริษัทยานยนต์หลายแห่งเข้าประชุมหลายครั้ง พูดคุยในหลายประเด็น รวมถึง รถมือสองเลขไมล์ศูนย์ ด้วย ทั้งยังกำชับให้บรรดาผู้บริหารควบคุมตนเอง ไม่ขายรถในราคาต่ำกว่าราคาทุน รวมถึงลดราคาให้เหมาะสม ทั้งนี้การสอบสวนดังกล่าวของทางการเกิดขึ้น หลังจากมีรายงานว่าบีวายดี (BYD) อีจีเบอร์หนึ่งของจีน ได้นำตลาดด้วยการลดราคารถยนต์กว่า 34% ในรถยนต์ 22 รุ่น
อย่างไรก็ตามข้อมูลน่าสนใจจากสื่อนอกประเทศจีน เช่น สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานถึงปมเรื่องนี้ โดยอ้างอิงข้อมูลจากตรวจสอบเอกสารของรัฐบาล และการไปสัมภาษณ์ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์
พบว่า การส่งออกและการขายรถมือสองปลอม อาจจะมีรัฐบาลท้องถิ่นมาเกี่ยวข้อง เพื่อปั่นยอดให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลกลาง เพื่อสนองนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยจากการตรวจสอบเอกสารนโยบายและรายงานของสื่อรอยเตอร์พบว่ามีรัฐบาลท้องถิ่นอย่างน้อย 20 แห่ง รวมถึงมณฑลสำคัญอย่างกวางตุ้งและเสฉวน ที่ประกาศสนับสนุนการส่งออกรถมือสองระยะทางเป็นศูนย์
มาตรการสนับสนุนที่ว่านี้ ประกอบไปด้วย การเพิ่มโควต้าทะเบียนรถสำหรับการส่งออก การเร่งคืนภาษี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งออก และการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจเพื่อกระตุ้นการส่งออกรถมือสองปลอม
แนวทางสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่นนี้อาจดูขัดแย้งกับหลักเศรษฐกิจทั่วไป แต่สำหรับระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนรวมศูนย์ของจีน การเร่งตัวเลขยอดขายและการจ้างงานช่วยเพิ่มโอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง หรือได้รับงบประมาณเพิ่มเติม ขณะที่หากไม่บรรลุเป้าหมาย อาจถูกลงโทษทางวินัยหรือถูกลดตำแหน่ง
นอกจากนี้การซื้อขายรถมือสองปลอมนี้ยังช่วยปั่นตัวเลข GDP ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะนับทั้งมูลค่าการซื้อและการขายของรถคันเดียว ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นพยายามดึงดูดบริษัทเหล่านี้มาตั้งกิจการในพื้นที่ตนเอง
รอยเตอร์ยังชี้อีกว่าปัญหานี้สะท้อนให้ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์จีน ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก อาจจะกำลังผลิตรถเกินความต้องการภายในประเทศ นำไปสู่สงครามราคาที่ต่อเนื่องและจะถูกกล่าวหาได้ว่ามีการ “ทุ่มตลาด” รถยนต์จีนในต่างประเทศ
ขณะที่ "ซิง เล่ย" ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา AutoXing ในสหรัฐฯกล่าวว่าพฤติกรรมนี้อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติตั้งข้อสงสัยต่อยอดขายของผู้ผลิตรถยนต์จีน เพราะไม่มีใครรู้ว่ายอดขายจริงมีเท่าไหร่ หรือเกิดจากการที่ปั่นตัวเลขกันแน่ มีมากแค่ไหน
ทั้งนี้ทางการจีนได้เริ่มเปิดทางให้ส่งออกรถมือสองได้อย่างถูกกฎหมาย นับตั้งแต่ปี 2562 มาถึงปัจจุบันนี้มีผู้ค้าเข้าร่วมระบบนี้นับพันราย โดยปีที่ผ่านมา 2567 มีรถยนต์มือสองที่จีนส่งออก 436,000 คัน และประมาณ 90% เป็นรถมือสองศูนย์ไมล์
จับตา "ตลาดรถจีน" ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ดูเหมือนว่าตอนนี้ค่ายของจีนกำลังเจอกับศึกหนัก ทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่ทางการจีนก็พยายามงัดทุกยาแรงออกมาใช้ เช่น มาตรการรถเก่าแลกใหม่ ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายในประเทศได้ดี
ยอดขายรถในประเทศจีนในช่วงต้นปีที่ผ่าน ได้แรงส่งจากโครงการรถเก่าแลกใหม่ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแห่งประเทศจีน (CPCA) เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ 2568มียอดขายรวม 6.97 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริด พุ่งขึ้น 33.9% เมื่อเทียบรายปี คิดเป็นสัดส่วน 50.8% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดของเดือนเมษายน ข้อมูลทางการชี้ว่า โครงการของรัฐบาลที่ให้เงินอุดหนุนการเปลี่ยนรถเก่าเป็น NEV ในอัตราที่สูงกว่ารถยนต์สันดาป มีรถเข้าร่วมแล้ว 2.71 ล้านคัน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย.) โครงการนี้ช่วยพยุงความเชื่อมั่นผู้บริโภคชาวจีน ท่ามกลางการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ ซึ่งกระทบต่อการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ยอดส่งออกรถยนต์ในเดือนเม.ย.ลดลง 2.2% จากปีก่อนหน้า ต่อเนื่องจากเดือนมี.ค.ที่ลดลง 8% ตามข้อมูลของ CPCA
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่และน่ากลัวกว่าที่คิด จับตากันว่าทางการจีนจะจัดการอย่างไร
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
