รีเซต

3 บิ๊กดีลแห่งปี’64 SCBX-ทรูดีแทค กัลฟ์ผงาดอินทัช

3 บิ๊กดีลแห่งปี’64 SCBX-ทรูดีแทค กัลฟ์ผงาดอินทัช
มติชน
29 ธันวาคม 2564 ( 06:40 )
86

ปี 2564 ถือเป็นปีที่หลายธุรกิจใหญ่ในประเทศไทย มีการปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งการเข้าซื้อหรือเทกโอเวอร์บริษัทอื่นเข้ามาอยู่ในพอร์ตธุรกิจตัวเอง การร่วมจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (พาร์ตเนอร์) รวมไปถึงการปรับโครงสร้างบริษัททรานฟอร์มเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะบิ๊กดีลที่มีมูลค่าระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป ซึ่งบิ๊กดีลสำคัญๆ ที่เรียกเสียงฮือฮาแห่งปี เริ่มที่

 

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือกัลฟ์ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรืออินทัช ซื้อหุ้นจำนวน 23.32% มูลค่า 48,611 ล้านบาท กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 42.25% ซึ่งเท่ากับว่า กัลฟ์ ก็ได้ถือหุ้นใหญ่ทางอ้อมใน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ค่ายโทรศัพท์เบอร์ 1 ของไทย ด้วยเช่นกัน รายงานข่าวระบุว่า ทางอินทัชได้เตรียมการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ในประเทศไทย พร้อมกับการซื้อไฟฟ้าราคาถูกจากทางกัลฟ์ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย

 

ให้หลังไม่นาน ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับโฉมธุรกิจแบงก์สู่ Tech Company ด้วยยานแม่ SCBX (เอสซีบีเอ็กซ์)Ž พร้อมประกาศเป้าอนาคตคือบริษัทระดับภูมิภาคและโลก มีมูลค่าบริษัทเป็น 1 ล้านล้านบาท ดันราคาหุ้น scb พรวดขึ้นนำหุ้นกลุ่มแบงก์ มูลค่าหุ้นขึ้นอันดับ 1 แซงหุ้น kbank ของธนาคารกสิกร และหุ้น bbl ของธนาคารกรุงเทพ ก่อนจะย่อตัวลงมา มูลค่าหุ้นอยู่อันดับ 2

 

หลังจากนั้นก็ประกาศดีลฮือฮาอีกครั้ง เมื่อยานแม่ SCBX เข้าถือหุ้นใหญ่ของ Bitkub (บิทคับ) โบรกเกอร์ซื้อขายเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) อันดับ 1 ของไทย มูลค่า 17,850 ล้านบาท ตอกย้ำการเข้าเป็นผู้เล่นตลาดคริปโทฯเต็มตัว

 

บิ๊กดีลไม่จบเพียงแค่ 2 เหตุการณ์ที่มองว่าใหญ่แล้ว แต่เกิดดีลที่มีข่าวลือมาข้ามปีก็ว่าได้ นั่นคือ การควบรวมกันของ 2 ค่ายมือถือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ประกาศ Joint Venture จัดตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด (Citrine Global)Ž จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ สัดส่วนของดีแทค 42.1% และสัดส่วนของทรู 57.9% มูลค่าบริษัทใหม่ 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 250,000 ล้านบาท เพื่อบริหารทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน พร้อมประกาศขึ้นแท่นเป็นฮับเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งเอเชีย

 

ดีลแห่งปียังมีให้คนไทยตะลึงตึงๆ ในภาวะที่เจอการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้หลายกิจการซวนเซ แต่ห้างค้าปลีกอันดับต้นๆ ของเมืองไทย อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ได้ลงนามสัญญากับซิกน่า เข้าซื้อกิจการ เซลฟริดเจสŽ เครือข่ายห้างหรูระดับซุปเปอร์ลักชัวรี่ ในทวีปยุโรป เพื่อเสริมทัพธุรกิจมุ่งสู่การเป็นผู้นำค้าปลีกระดับโลก ด้วยมูลค่า 4 พันล้านปอนด์ หรือราว 1.8 แสนล้านบาท คาดไว้ว่าจะเพิ่มยอดขายของทั้งกลุ่มเซ็นทรัล เป็น 7 พันล้านยูโร หรือมากกว่า 2.6 แสนล้านบาท ภายในปี 2567

 

และดีลสุดท้ายของปีวัว ซึ่งยังไม่คอนเฟิร์มชัดๆ เป็นเพียงการรายงานข่าวของสำนักข่าว บลูมเบิร์กŽ ระบุว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้ชนะการประมูลซื้อพอร์ตธุรกิจสินเชื่อ โดยเฉพาะธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชี่อส่วนบุคคล ของซิตี้กรุ๊ปประเทศไทย มูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 67,500 ล้านบาท ตามการปรับกลยุทธ์ของบริษัทแม่ ที่จะมุ่งเน้นไปยังธุรกิจด้านการบริหารความมั่งคั่งมากกว่า

 

จริงหรือไม่รอธนาคารกรุงศรีอยุธยาคอนเฟิร์มอีกครั้ง แต่ปรากฏการณ์ดีลแห่งปีที่เกิดขึ้นเป็นว่าเล่นย่อมเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ลองฟังความเห็นผู้คว่ำหวอดต่อปรากฏการณ์ครั้งนี้

 

ฉันทนุช โชติกพนิช หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานดีลบริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่วิกฤตโควิด-19 กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภค การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปจนถึงการผลักดันให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ด้วยเหตุนี้ องค์กรจะต้องมีความคล่องตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ให้ทัน แต่หากการเติบโตตามธรรมชาติไม่สามารถทำให้องค์กรขยับขยายธุรกิจ หรือก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงได้ทัน ก็อาจพิจารณาการเติบโตผ่านการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) เพื่อได้มาซึ่งความสามารถทางธุรกิจ ที่มีศักยภาพในการเติบโต หรือมีสินค้า บริการ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะยิ่งช่วยทําให้ธุรกิจเติบโตได้เป็นทวีคูณมากกว่าที่บริษัทจะสามารถทําได้เองเพียงลําพัง

 

อย่างไรก็ดี ผลจากการทำดีลไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกครั้งไป ผลจากการสำรวจของ PwC พบว่า 53% ของการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นบนโลก ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์กรธุรกิจจะต้องทำอย่างไรเพื่อสร้างความมั่นใจว่า การลงทุนจะสร้างมูลค่าได้อย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ดีลประสบความสำเร็จ คือ ความสามารถของธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วยกระบวนการ เครื่องมือ เทคโนโลยี และพฤติกรรมที่ทำให้องค์กรนั้นๆ สามารถส่งมอบคุณค่าพิเศษให้แก่ลูกค้าของตนได้ ยกตัวอย่างบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง แอปเปิล (Apple) ที่มีความสามารถโดดเด่นในด้านการออกแบบสินค้าให้ดูทันสมัยและน่าใช้ หรือบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ แอมะซอน (Amazon) ที่มีความสามารถในด้านการออกแบบจุดเชื่อมต่อระหว่างร้านค้าปลีกกับผู้บริโภค เป็นต้น

 

ไม่ว่าองค์กรจะมีเป้าหมายของการควบรวมเพื่อสร้างความมั่นคง ปรับเปลี่ยนธุรกิจ หรือเข้าสู่ตลาดใหม่ ดีลที่ประสบความสำเร็จได้ ควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ นั่นคือ ความเข้ากันของความสามารถทางธุรกิจ ระหว่างผู้ซื้อและบริษัทเป้าหมาย โดยสามารถแบ่งรูปแบบของการทำดีลออกเป็น 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

 

หนึ่ง ดีลที่เสริมความสามารถทางธุรกิจ หรือดีลที่ผู้ซื้อต้องการควบรวมกิจการเพื่อให้ได้มาซึ่งขีดความสามารถที่ต้องการ โดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีดีลในรูปแบบนี้มากที่สุดคือ โทรคมนาคม 48% ตามมาด้วย ยานยนต์ และธนาคาร ตลาดทุน และการบริหารจัดการสินทรัพย์ ที่ 46% เท่ากัน

สอง ดีลที่ช่วยยกระดับความสามารถของธุรกิจ หรือดีลที่ผู้ซื้อใช้ความสามารถที่มีอยู่ในการสร้างคุณค่าให้บริษัทเป้าหมายยิ่งเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยการทำดีลประเภทนี้พบมากที่สุดในธุรกิจด้านบริการสุขภาพ และธุรกิจด้านเภสัชกรรม และชีววิทยาศาสตร์ ที่ 62% เท่ากัน

นอกจากนี้ การทำดีลทั้งสองประเภทนี้ยังเน้นไปที่การสร้างคุณค่า และให้ผลตอบแทนการลงทุนโดยรวมในระดับสูง มากกว่า 50% ของดีลที่ยกระดับความสามารถทางธุรกิจ และดีลที่เสริมความสามารถทางธุรกิจจะให้ผลตอบแทนการลงทุนโดยรวม ในระดับสูง

และ สาม ดีลที่มีความเข้ากันอย่างจำกัด หรือดีลที่ผู้ซื้อไม่ได้สนใจต่อความสามารถทางธุรกิจ หรือไม่ได้ซื้อบริษัทเป้าหมายเพื่อมาเสริม หรือพัฒนาความสามารถของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจต้องการซื้อกิจการเพียงเพื่อขยายฐานการผลิต หรือเพิ่มจำนวนสาขา ซึ่งการทำดีลในลักษณะนี้ มักให้ผลตอบแทนต่ำกว่าสองดีลแรก โดยรายงานของ PwC ระบุว่า มีเพียง 28% ของดีลรูปแบบนี้ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับสูง

ไม่ว่าดีลจะออกมารูปแบบไหน หรือมีเป้าประสงค์อะไร แต่แนวโน้มปี 2565 เชื่อว่า บิ๊กดีล คงจะยังมีให้เห็น เพราะโลกธุรกิจในปัจจุบัน ใหญ่เกินกว่าจะทำธุรกิจเพียงลำพังอีกแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง