รีเซต

กรมที่ดินยุคดิจิทัล นิติกรรมออนไลน์

กรมที่ดินยุคดิจิทัล นิติกรรมออนไลน์
มติชน
21 กุมภาพันธ์ 2565 ( 06:32 )
160
กรมที่ดินยุคดิจิทัล นิติกรรมออนไลน์

หลังใช้เวลาผลักดัน 11 ปี ในที่สุด “กรมที่ดิน” ได้ฤกษ์กดปุ่มเปิดบริการจดทะเบียนและนิติกรรมที่ดินต่างสำนักงานแบบออนไลน์ได้แล้วเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงการบริการอย่างไร้รอยต่อ รับโลกยุคดิจิทัล

 

เริ่มนำร่อง “กรุงเทพมหานคร” เป็นจังหวัดแรกภายใต้แนวคิด “คนกรุงสบาย จดทะเบียนที่ดินออนไลน์ ใกล้บ้าน” สามารถใช้บริการได้ทุกพื้นที่ทั้ง 17 สาขา อาทิ บางเขน พระโขนง บางกอกน้อย บางกะปิ หนองแขม มีนบุรี ห้วยขวาง จตุจักร ธนบุรี ลาดพร้าว ดอนเมือง บึงกุ่ม ประเวศ หนองจอก ลาดกระบัง บางขุนเทียน อยู่ใกล้ที่ไหนไปใช้บริการที่นั่น ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย เนื่องจากเจ้าของที่ดินไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ แต่สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินที่ใดก็ได้ที่อยู่ใกล้บ้าน ขณะที่ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ผู้ที่สนใจใช้บริการสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านระบบ e-QLands ก่อนล่วงหน้า 3 วันทำการ โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น e-QLands ผ่านสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบ IOS และ Android จากนั้นเลือกรายการ “จองคิวจดทะเบียนต่างสำนักงาน (เฉพาะ กทม.)” เมื่อถึงวันนัดแสดงหมายเลขคิวที่ได้รับก็สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ในทันที โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นโฉนดที่ดินที่ไม่มีการประกาศหรือรังวัด และเจ้าของที่ดินต้องไปดำเนินการด้วยตนเอง

 

นับเป็นการยกระดับบริการของกรมที่ดินให้ล้ำไปอีกขั้น หลังจากเมื่อปีก่อนเปิดตัวแอพพลิเคชั่น “e-QLands” ระบบจองคิวยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การรังวัดล่วงหน้า ที่สำนักงานที่ดินทั่วประเทศ ทางอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือให้ประชาชน 13 ล้านราย ที่ใช้บริการแต่ละปี เข้าถึงการบริการได้ง่าย

 

สำหรับการจดทะเบียนที่ดินออนไลน์ต่างสำนักงาน “นิสิต จันทร์สมวงศ์” อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 จากการที่กรมได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาพัฒนาการบริการ ในสมัยนั้นมีแนวคิดที่จะพัฒนาการจดทะเบียนออนไลน์ต่างสำนักงาน นับจากปี 2554 ถึง 2565 เป็นระยะเวลา 11 ปี ที่กรมใช้เวลาพัฒนาระบบ และไม่ง่ายกว่าจะมาถึงวันนี้

 

เนื่องจากต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อรองรับการจดทะเบียนให้ถูกต้อง ทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้เชื่อมโยงสำนักงานที่ดินทั้ง 461 สาขาทั่วประเทศ และนำสารบบที่ดินที่มีอยู่ทั่วประเทศ 34.4 ล้านแปลงเข้าสู่ระบบ ซึ่งเมื่อปี 2560 กรมได้รับงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท พัฒนาระบบให้เชื่อมโยงกันทั้งประเทศ จนมาแล้วเสร็จในปี 2565 และเริ่มทดลองให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ จากนั้นกรมจะขยายไปยังต่างจังหวัดในอนาคต

 

“เลือกกรุงเทพฯเป็นพื้นที่นำร่อง เพราะพร้อมทั้งระบบดิจิทัล และได้ลงสารบบที่ดินไว้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังเป็นพื้นที่มีโฉนดที่ดินมากสุดกว่า 2.2 ล้านแปลง มีคนมาทำนิติกรรมต่างๆ ปีละกว่า 9 แสนราย สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมปีละ 2,400 ล้านบาท”

 

จากก้าวแรก อธิบดีกรมที่ดินฉายภาพก้าวต่อไป ตั้งเป้าอีก 7-10 ปีข้างหน้า จะดำเนินการให้ครบทั่วประเทศ ซึ่งในระยะแรกเป็นจุดเริ่มต้นจะเน้นจังหวัดที่มีการทำนิติกรรมจำนวนมาก ตามแผนในปี 2566 จะเปิดจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมออนไลน์ข้ามจังหวัดได้ที่ จ.อุบลราชธานี หนองคาย เชียงใหม่ และสงขลา จากนั้นในปี 2567 ไปที่ จ.ขอนแก่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และปี 2568 เป็นจังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออกหรืออีอีซี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรด้วย

 

“การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมออนไลน์ต่างสำนักงาน นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของกรมที่ดินในรอบ 121 ปี เพราะเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานทั้งหมด โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัย ระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัล มาประยุกต์ในการให้บริการประชาชนในยุคดิจิทัล ซึ่งช่วยลดระยะเวลาได้มากกว่า 50% เพราะสามารถใช้บริการสาขาใกล้บ้านได้ วิธีการเมื่อไปถึงสำนักงาน ทางเจ้าพนักงานที่ดินทั้ง 2 สาขา จะเซ็นชื่อลงในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของโฉนดที่อยู่ในระบบ ส่วนเจ้าของที่ดินจะเก็บโฉนดตัวจริงไว้ จะใช้เวลาไม่มาก เช่น โอนที่ดินหรือมรดกประมาณ 45 นาที”

 

ไม่ใช่แค่ประหยัดเวลา ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ สามารถสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมที่ดิน และความน่าเชื่อถือให้กับประเทศชาติ ส่งผลต่อระดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ Ease of Doing Business ที่ทำให้นานาชาติมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศ

 

“ในอนาคตกรมจะขยายไปต่างจังหวัดให้ทั่วประเทศและครอบคลุมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมบ้านและคอนโดมิเนียมด้วย ในส่วนของคอนโดมิเนียม คาดว่าจะเริ่มทำนิติกรรมทางออนไลน์ต่างสำนักงานได้ในปี 2566 สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ”

 

ด้านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มีเสียงสะท้อนไปในทิศทางเดียวกันว่า “เป็นการบริการที่ดีและกับยุคสมัย” โดย อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีและเข้ากับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของระบบเทคโนโลยีที่วันนี้มีการพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัล ต่อไปไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำนิติกรรมต่างๆ ได้ ทำให้สะดวกทั้งคนซื้อและคนขาย รวมถึงเจ้าพนักงานที่ดินด้วย

 

“หากเปิดจดทะเบียนออนไลน์ข้ามสำนักงานต่างจังหวัดได้จะยิ่งดี ทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่นั้นๆ คึกคัก เช่น หัวเมืองท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ยังไม่ค่อยเข้าใจขั้นตอนการให้บริการเท่าไหร่ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเพราะการซื้อขายที่ดินต้องมีการเซ็นชื่อด้านหลังโฉนดตัวจริง”

 

ส่วน “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีทีมงานและบริษัทเอาต์ซอร์ส รับทำนิติกรรมให้ลูกค้าอยู่แล้ว แต่การที่กรมที่ดินเปิดให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินต่างสำนักงานได้ ยิ่งทำให้สะดวกและโอนที่ดินได้เร็วขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย

 

ขณะที่ “อธีป พีชานนท์” รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ทำให้ประชาชนทั่วไปหรือเจ้าของที่ดินสะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล อยู่ใกล้สำนักงานที่ดินไหนก็ไปใช้บริการได้ แต่ยังมีคำถาม จะมีการบันทึกซื้อขายหลังโฉนดตัวจริงอย่างไรว่ามีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันแล้ว เพราะต้องมีลายเซ็นเจ้าพนักงานที่ดิน รวมถึงจะอัพเดตข้อมูลเข้าไปในระบบอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่ยู่ต่างสาขากัน ต้องเป็นคนละคนที่เซ็นหรือไม่ “ทุกอย่างดีหมด สะดวกขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปสถานที่จริง เช่น มีที่ดินภูเก็ต อยู่กรุงเทพฯก็ทำการโอนได้ ยิ่งทำได้ทั้งประเทศยิ่งดี จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของระบบราชการไทยที่เปิดให้ทำเอกสารได้ทุกสำนักงาน”

นี่คือก้าวใหม่…ก้าวแรกของกรมที่ดินยุคดิจิทัล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง