รีเซต

ไขข้อสงสัยคลิปดังใน TikTok "แมลงเต็มห้องน้ำ คล้ายยุง" คืออะไร?

ไขข้อสงสัยคลิปดังใน TikTok "แมลงเต็มห้องน้ำ คล้ายยุง" คืออะไร?
TNN ช่อง16
15 สิงหาคม 2566 ( 11:11 )
131
ไขข้อสงสัยคลิปดังใน TikTok "แมลงเต็มห้องน้ำ คล้ายยุง" คืออะไร?

หลังจากมีผู้ใช้ TikTok ได้โพสต์คลิปขณะเปิดประตูห้องน้ำข แล้วเจอแมลงที่ดูคล้ายยุง เกาะเต็มฝาผนังทุกด้านและบินอยู่เป็นจำนวนมากจนน่ากลัว ล่าสุด เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความถึงเรื่องดังกล่าวว่า


"แมลงเต็มห้องน้ำ คล้ายยุง น่าจะเป็น "ริ้นน้ำจืด" ครับ" มีการแชร์คลิปวิดีโอ เหมือนนักท่องเที่ยวที่เปิดประตูห้องน้ำของที่พัก แล้วเจอแมลงที่ดูคล้ายยิง เกาะเต็มฝาผนังทุกด้านและบินอยู่เป็นจำนวนมากจนน่ากลัว ข้างนอกห้องน้ำก็มี จนต้องปิดไฟที่พัก  ซึ่งดูลักษณะของตัวแมลงตามในคลิป และพฤติกรรมที่มาอยู่กันเป็นจำนวนมากขนาดนี้ คิดว่าไม่น่าจะใช่ยุงนะครับ แต่น่าจะเป็น "ริ้นน้ำจืด" มาเล่นไฟในห้องน้ำมากกว่า


ริ้นน้ำจืด มักจะพบใกล้กับแหล่งน้ำ และก็พบได้เป็นจำนวนมากแบบนี้ ในช่วงที่ตัวเต็มวัยออกจากดักแด้ที่อยู่ในน้ำ เพื่อบินมาผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป


ริ้นน้ำจืด เป็นริ้นชนิดที่ไม่ได้มีปากกัด จึงไม่ได้กัดคนเหมือนกับยุง แต่ก็ก่อให้เกิดความรำคาญได้ และเกิดอาการแพ้ในบางคนได้ ... เลยขอเอาข้อมูลเกี่ยวกับ "ริ้นน้ำจืด" ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาฝากกันครับ


ริ้นน้ำจืด (Chironomid หรือ non-biting midge)


- คนไทยมักจะเรียกแมลงขนาดเล็กๆ ที่กัดเจ็บว่า "ริ้น" โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ บอกว่า "ริ้น" คือ ชื่อแมลงหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Ceratopogonidae ขนาดเล็กเท่าแมลงหวี่ มีปีกคู่เดียว มักพบบินอยู่ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง หรือชายทะเล ดูดกินเลือดคนและสัตว์ ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ที่พบมากอยู่ในสกุล Culicoides และ Leptoconops ถ้าพบมากตามเขตติดต่อกับทะเล เรียก ริ้นน้ำเค็ม หรือปึ่ง (biting midge)


- แต่ "ริ้นน้ำจืด" เป็นแมลงที่อยู่คนละวงศ์กับริ้นน้ำเค็ม โดยมันจัดอยู่ในวงศ์ Chironomidae และเป็นแมลงที่ไม่มีปากกัด แม้ว่าจะจัดอยู่ในอันดับ Diptera (ซึ่งหมายถึง แมลงสองปีก) เหมือนกับพวกยุง


- ตัวอ่อนของริ้นน้ำจืด จะอยู่ในน้ำ ลำตัวยาวคล้ายหนอน มีสีแดง เรียกว่า หนอนแดง (blood worm) กินพืชหรือซากเน่าเปื่อยเป็นอาหาร ขณะที่ตัวมันก็เป็นอาหารของสัตว์อื่น


- เมื่อเป็นดักแด้ จะลอยอยู่ผิวน้ำเพื่อกลายเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยมีรูปร่างคล้ายยุงมาก ต่างกันที่ปีกไม่มีเส้นปีก และไม่มีอวัยวะคล้ายเข็มสำหรับแทงดูด ปากไม่พัฒนา ทำให้เมื่อเป็นตัวเต็มวัยไม่สามารถกินอะไรได้เลย เกิดมาเพื่อผสมพันธุ์เท่านั้น


- ถ้ามองเผินๆ แล้ว ริ้นน้ำจืดมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับยุงมาก ข้อสังเกตเบื้องต้น คือ เวลาที่มันเกาะ ถ้าเป็นยุงจะเห็นขาหลังยื่นยาวกว่าขาคู่อื่นๆ ในขณะที่ริ้นน้ำจืด ขาที่ยื่นยาวมากๆ จะเป็นขาคู่หน้า และให้สังเกตที่ปาก เนื่องจากริ้นน้ำจืดจะไม่มีปากที่ใช้แทงดูดเหมือนยุง และไม่มีเส้นปีก (ส่วนริ้นน้ำเค็ม และริ้นดำ ซึ่งกัดดูดเลือดคนได้ จะมีลักษณะแตกต่างกับยุงโดยสิ้นเชิง)


- แหล่งเพาะพันธุ์ของริ้นน้ำจืด : พบได้ในน้ำหรือใกล้ๆ น้ำเกือบทุกที่ เช่น โพรงต้นไม้ พืชเน่าเปื่อย ดิน น้ำเสีย และในที่มีน้ำขังชั่วคราว


- ริ้นนำจืดไม่นำเชื้อโรคมาสู่คน แต่เป็นตัวการทำให้คนสร้างสารก่อภูมิแพ้ เกิดอาการหอบหืด (asthma) นอกจากนั้นยังรบกวน ก่อความรำคาญโดยการรวมกันเป็นฝูงใหญ่ และทำให้สิ่งแวดล้อม ตลอดจนยวดยานพาหนะสกปรก ยากต่อการทำความสะอาด


- วิธีการป้องกันริ้นที่ได้ผลดี คือ การใช้สารไล่แมลง (repellent) ทาป้องกันแมลงที่บริเวณผิวหนัง หรือพ่นเสื้อผ้า และควรใส่เสื้อผ้าหนาปกคลุม ร่างกายให้มิดชิดเพื่อป้องกันริ้นเล็ดลอดเข้าไปในร่มผ้า


- การควบคุมกำจัดริ้น โดยวิธีกล


1. หลีกเลี่ยงการใช้ไฟส่องสว่างมากๆ ถ้าพบมีแมลงเข้ามาเล่นไฟเป็นจำนวนมาก ให้ใช้วิธีปิดไฟระยะหนึ่งประมาณ 5-10 นาที แล้วปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด หลังจากนั้นจึงเปิดไฟอีกครั้งหนึ่ง


2. เมื่อพบมีแมลงเข้ามาเล่นไฟ ให้นำภาชนะ เช่น กะละมังใส่น้ำ วางไว้ใต้หลอดไฟและขึงพลาสติกข้างกะละมัง เมื่อแมลงบินมาเล่นไฟ จะกระทบกับพลาสติกแล้วตกใส่กะละมัง เป็นการลดจำนวนแมลง


3. บริเวณบ้าน อาจควบคุมโดยทำลายแหล่งหลบซ่อน กำจัดขยะ ซ่อมแซมรอยแตกตามกำแพงและพื้นดินไม่ให้มีแหล่งอาศัย เพื่อลดประชากรของริ้นฝอยทราย


4. การใช้พัดลมเพดาน หรือพัดลมตั้งพื้น สามารถไล่แมลงพวกนี้ ไม่ให้มาตอมตามลำตัวได้


5. หากใช้วิธีกลแล้วยังพบว่าถูกรบกวนโดยตัวริ้น จำเป็นต้องใช้สารเคมีสเปรย์ร่วมด้วยเดือนละ 2-3 ครั้ง ในช่วงการระบาด


- การควบคุมตัวเต็มวัยโดยการพ่นสารเคมีแบบกระป๋องสเปรย์ : การพ่นหมอกควัน อาจจะช่วยลดจำนวนของริ้นลงได้ ในการพ่นกำจัดควรจะใช้สารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันทุกหกเดือน เพื่อป้องกันแมลงสร้างความต้านทานต่อสารเคมี / นอกจากยาทาป้องกัน อาจใช้สารไล่ (repellent) แบบต่างๆ พกติดตัว แขวนหน้าประตู หรือใช้มุ้งชุบสารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์"


ความสำคัญทางการแพทย์ของริ้นน้ำจืด


ริ้นน้ำจืด ไม่นนำเชื้อโรคมาสู่คน แต่เป็นตัวการทำให้คนสร้างสารก่อภูมิแพ้ เกิดอาการหอบหืด (asthma) นอกจากนั้นยังรบกวน ก่อความรำคาญโดยการรวมกันเป็นฝูงใหญ่ และทำให้สิ่งแวดล้อม
ตลอดจนยวดยานพาหนะสกปรก ยากต่อการทำความสะอาด



@tod_finfrog โดนบุกยึดห้องน้ำไปแล้ว 😂 #เขื่อนศรี #ไต๋นัทหน้าอำเภอ ♬ เสียงต้นฉบับ - Tossapon Jinngee






ที่มา อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ / กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 

ภาพจาก tod_finfrog

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง