RATCH โบรกฯ คาดฟื้นตัวจำกัด หั่นราคาเหมาะสมลงเป็น 32.00 บ.

#ทันหุ้น - บล.หยวนต้า ส่องหุ้น RATCH ประชุมนักวิเคราะห์...โทนโดยรวมเป็นลบ ซึ่งวานนี้ (4 มี.ค.) ฝ่ายวิจัยได้เข้าร่วมประชุมนักวิเคราะห์และมีมุมมองเป็นลบ
โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1) EBITDA รวมของโรงไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้ Nexif Portfolio (NEHBV) ในปี 2566 อยู่ที่เพียง 1,101 ล้านบาท เทียบกับต้นทุนทางการเงินของ NEHBV ที่อยู่ในระดับ 599 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรของ Portfolio ดังกล่าวที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันบริษัทฯ ได้เริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างของ NEHBV (นำมาอยู่ภายใต้ RAC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในออสเตรเลีย) เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริหารและต้นทุนทางการเงินแล้ว แต่คาดกระบวนการดังกล่าวจะยังไม่สามารถทำให้ความสามารถในการทำกำไรของ NEHBV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า (คาดดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป) และ 2) สำหรับธุรกรรมการลงทุนในโรงไฟฟ้า Paiton ในอินโดนีเซีย ปัจจุบันธุรกรรมดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากทางการอินโดนีเซีย (ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน)
ปรับประมาณการกำไรปี 2567 ลง ฝ่ายวิจัยปรับกำไรปี 2567 ลง 18% เป็ น 5,333 ล้านบาท (+20% YoY) จาก 1) การนำส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า Paiton ออกจากประมาณการหลังธุรกรรมดังกล่าวล่าช้าและยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน (เดิมคาดรับรู้ส่วนแบ่งกำไรแบบเต็มปี) และ 2) การปรับสมมติฐานต้นทุนทางการเงินขึ้นเป็น 4,233 ล้านบาท (เดิม 3,884 ล้านบาท) หลังกระบวนการปรับโครงสร้างของ NEHBV เพื่อลดต้นทุนทางการเงินใช้เวลาานกว่าที่
ประเมินไว้ก่อนหน้า
กำไรปกติ Q1/67 คาดโตได้ QoQ แต่ลดลง YoY เบื้องต้นคาดกำไรปกติ Q1/67 ที่ระดับ 800-1,000 ล้านบาท เติบโต QoQ จากฐานที่ต่ำหลังได้แรงหนุนจาก 1) การเริ่มรับรู้รายได้จากการ COD โรงไฟฟ้าหินกองหน่วยที่ 1 ขนาด 357MWe (รับรู้ราว 1 เดือน) 2) ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าหงสาที่ฟื้นตัวหลังมีจำนวนวันที่ปิดซ่อมบำรุงน้อยลงและ 3) ค่าใช้จ่าย SG&A ที่ลดลงตามปัจจัยฤดูกาล อย่างไรก็ตามคาดกำไรปกติจะลดลง YoY แม้มีการรับรู้รายได้จากโครงการใหม่หลังถูกกดดันจาก 1) ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าหงสาที่มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุง (Q1/66 ไม่มีการปิดซ่อมบำรุง) 2) ต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 1,200-1,300 ล้านบาท เทียบกับ Q1/66 ที่ 1,025 ล้านบาท
หั่นเป้าที่ 32 บ./หุ้น ,ปรับคำแนะนำลงเป็น “TRADING” ผลจากการปรับประมาณการลงและการปรับ WACC ที่ใช้ประเมินมูลค่าขึ้นเป็น 8.0% (เดิม 6.8%) ส่งผลให้ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2567 ลดลงเป็น 32.00 บาท/หุ้น มี Upside เหลือเพียง 11.3% โดยฝ่ายวิจัยมองว่าแม้หุ้นจะมีเงินปันผลปีละราว 1.60 บาท/หุ้น (Dividend Yield 5.6%) ช่วยจำกัด Downside แต่การฟื้นตัวของราคาหุ้นจะยังคงถูกจำกัดจาก Bond Yield ระยะ 10 ปีของไทยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและธุรกรรมการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้า Paiton ที่ล่าช้า (ส่งผลให้ตลาดเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับกระแสเงินสดเนื่องจากโรงไฟฟ้า RG ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักใกล้ถึงกำหนดปลดระวางในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า) จึงปรับคำแนะนำลงจาก “ซื้อ” เป็น “TRADING”