“พิชัย”จี้ธปท.ลดดอกเบี้ย เพิ่มความร้อนแรงให้เศรษฐกิจ

“พิชัย”จี้ธปท.ลดดอกเบี้ย เพิ่มความให้ร้อนแรงเศรษฐกิจ หลังอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับต่ำ ระบุ ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี เพราะทิศทางเศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้น ทั้งยังช่วยค่าเงินบาทอ่อนหนุนภาคส่งออก และช่วยให้สินเชื่อในระบบขยายตัว
#ทันหุ้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้เป็นจังหวะที่ดีที่จะส่งให้การขยายตัวของเศรษฐกิจสามารถมีความต่อเนื่อง
เขากล่าวภายหลังการมอบรางวัลด้านการบริหารการคลังดีเด่นว่า ตนคิดว่า เรื่องการลดดอกเบี้ย ทุกประเทศก็กังวลกับผลที่ตามมาคือปัญหาเงินเฟ้อและความร้อนแรงของเศรษฐกิจ แต่ในความคิดของตนเองนั้น มองว่าขณะนี้เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำ และเป็นระดับที่ต่ำต่อเนื่องมานาน
ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะไปช่วยเพิ่มความร้อนแรงของเศรษฐกิจขึ้นมาบ้างน่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
นอกจากนั้นเขากล่าวอีกว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี เพราะทิศทางเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น
เขากล่าวว่า ถ้าเรามองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีที่แล้วอยู่ที่ 2.5%ของจีดีพีเท่านั้น แต่เราจำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่า ในสองไตรมาสแรกของปีที่แล้วรัฐบาลทำอะไรไม่ได้มาก ขณะที่ ไตรมาสที่3 และ 4 เราสามารถขยายตัวได้ในระดับ 3%และ3.2%ตามลำดับ
"การเติบโตของเศรษฐกิจมีแรงต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าหากเราเอาภาพเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่มีข้อจำกัดมากมาย อาจทำให้เราวิเคราะห์ผิด"นายพิชัย กล่าว
เขายังกล่าวอีกว่า การลดดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากในเรื่องการลดต้นทุนทางการเงินให้กับประชาชนและภาคธุรกิจแล้ว การลดอัตราดอกเบี้ย ยังจะช่วยในเรื่องของค่าเงินบาทที่จะอ่อนค่าลง และจะช่วยให้สถาบันการเงินมีความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
เขากล่าวว่า ตนเพิ่งกลับจากญี่ปุ่น ซึ่งค่าเงินเยนแข็งต่อเนื่องมานาน แต่วันนี้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง ซึ่งการที่ค่าเงินอ่อนตัวลง อาจส่งผลต่อการนำเข้าที่อาจมีราคาแพงขึ้นก็ตาม แต่ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ส่งออก การส่งออกก็ฟื้นตัว ดังนั้นญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญต่อเรื่องการบริหารจัดการค่าเงินในแง่ของไทย ซึ่งเป็นประทศส่งออกเช่นกัน การที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนแอนั้น ต้องเปรียบเทียบกับคู่แจ่งของเรา ซึ่งหากเรามองย้อนหลังยาวๆ เราจะเห็นว่าค่าเงินบาทของเราแข็งค่าขึ้นจากในอดีต
"ประเทศที่ค่าเงินอ่อน เขาคงมีการใช้มาตรการต่างๆ. ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจของเขายังสามารถเติบโตได้"นายพิชัย กล่าว
เขากล่าวอีกว่า ค่าเงินเป็นผลของการใช้มาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ย การปล่ยสินเชื่อ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตนหวังว่าเรามองอะไรอย่ามองด้านเดียว จะต้องมองให้เกิดสมดุลด้วย
เขากล่าวอีกว่า การควบคุมเงินเฟ้อที่ดีจะต้องควบคุมให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่พอดี แต่ถ้าไม่พอดีจะเรียกว่าคุมเงินเฟ้อได้ดีหรือไม่ ซึ่งเราต้องเข้าใจด้วยว่าเงินเฟ้อมีผลกระทบในหลายด้านนอกจากดระทบต่อผู้บริฌภคแล้ว ยังกระทบต่อผู้ผลิตอีกด้วย
เขายังกล่าวถึงโครงการแก้ไขหนี้ภาคประชาชน ในโครงการคุณสู้เราช่วยว่า ที่ผ่านมาลูกหนี้รายย่อยหลายรายยังไม่มาเข้าโครงการ บางรายอาจยังไม่ทราบว่ามีโครงการนี้บางรายอาจไม่รับสายจากสถาบันการเงิน เพราะอาจจะเกรงว่าเป็นมิจฉาชีพ ดังนั้นอาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงวิธีการเพิ่มให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงโครงการนี้ได้มากขึ้น เช่น ปัจจุบันลูกหนี้ต้องมาลงนามในสัญญาแก้ไขหนี้ แต่การปรับปรุงใหม่ บางกรณีลูกหนี้อาจไม่จำเป็นต้องเข้ามาลงนามในสัญญากับสถาบันการเงิน
สำหรับโครงการ digital wallet เฟสที่สาม ซึ่งยังเหลืองบอีก1.57แสนล้านบาทนั้น นายพิชัย กล่าวว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของโครงการบางประการแต่ยังไม่สามารถบอกในตอนนี้ได้
ด้านนางแพตริเซีย มงคลวานิช อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวว่า จากต.ค. 2567 จนถึงสิ้นเดือน ก.พ.2568 คาดว่าการเบิกจ่ายงบลงทุน จะทำได้ราว 29%ของงบลงทุนทั้งหมด ซึ่งคาดว่าอัตราการเบิดจ่ายจะเร่งตัวขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2567 มีการเบิกจ่ายงบลงทุนรวม65% ขณะที่ เป้าหมายตั้งไว้ที่75% ซึ่งเป็นผลมาจากการอนุมัติพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้ากว่ากำหนด