รีเซต

ซูเปอร์ไซโคลน อำพัน ถล่มอินเดีย-บังกลาเทศ ดับแล้วอย่างน้อย 15 คน

ซูเปอร์ไซโคลน อำพัน ถล่มอินเดีย-บังกลาเทศ ดับแล้วอย่างน้อย 15 คน
TNN ช่อง16
21 พฤษภาคม 2563 ( 07:23 )
214
ซูเปอร์ไซโคลน อำพัน ถล่มอินเดีย-บังกลาเทศ ดับแล้วอย่างน้อย 15 คน

 

วันนี้ ( 21 พ.ค. 63 )ซูเปอร์ไซโคลน “อำพัน” พัดขึ้นฝั่งถล่มพื้นที่ชายฝั่งด้านตะวันออกของอินเดียและบังกลาเทศในช่วงเย็นวันพุธ ด้วยความแรงเทียบเท่าเฮอริเคนระดับ 3 เคลื่อนตัวด้วยความเร็วลม 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วลมที่จุดศูนย์กลาง 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งเกิดฝนตกหนักและกระแสลมแรง ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 15 คน ประชาชนเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบังกลาเทศ อพยพไปอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราวก่อนพายุพัดเข้าถล่ม ซึ่งเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่ท้าทายการระบาดของไวรัสโควิด-19และสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น

 

แม้ว่าไซโคลนลูกนี้ จะอ่อนกำลังลงขณะมุ่งหน้าสู่บังกลาเทศ แต่เจ้าหน้าที่ก็เตือนว่าจะยังเกิดความเสียหายอย่างหนักตามเส้นทางที่พายุเคลื่อนตัวผ่าน ต้นไม้หักโค่นระเนระนาดและบ้านเรือนในพื้นที่ของทั้ง 2 ประเทศ พังถล่ม คลื่นสูงซัดชายฝั่ง หรือ storm surge ซึ่งตลอดเส้นทางเลียบชายฝั่ง 25 กิโลเมตร หลายเมืองถูกน้ำท่วมสูง ซึ่งรวมทั้งเมืองโกลกาตา ในรัฐเวสต์ เบงกอลของอินเดียด้วย ไซโคลน “อำพัน” เริ่มพัดถล่มซุนดาร์บันส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเลนรอบหมู่บ้านพรมแดนอินเดีย-

 

บังกลาเทศ ที่มีประชากร 4 ล้านคนในช่วงบ่ายวันพุธ ก่อนที่จะมุ่งหน้าขึ้นเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเข้าถล่มเมืองโกลกาตา เมืองประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของดินแดน “บริติชราช” (British Raj) และคาดว่า ไซโคลน “อำพัน” จะเคลื่อนตัวมุ่งหน้าเข้าบังกลาเทศในวันพฤหัสบดี และต่อด้วย ภูฎาน เป็นประเทศต่อไป  

 

เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาเตือนว่า อาจทำให้เกิดฝนตกหนักวัดปริมาณน้ำฝนได้ 300 มิลลิเมตร ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่และดินถล่ม 

 

“อำพัน” นับเป็นซูเปอร์ไซโคลนลูกแรกที่ก่อตัวขึ้นในอ่าวเบงกอล ตั้งแต่ปี 2542 แม้ว่าจะอ่อนตัวลงแล้วในขณะนี้ แต่ก็ยังคงเป็นไซโคลนที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูงมาก 

 

มามาตา บาเนอร์จี มุขมนตรีของรัฐเวสต์ เบงกอล กล่าวกับผู้สื่อข่าวในช่วงเย็นวันพุธว่า ไซโคลนพัดสะพานที่เชื่อมเกาะต่าง ๆ ของอินเดียกับแผ่นดินใหญ่พังหลายแห่ง และยังทำให้หลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และการให้บริการโทรศัพท์ถูกตัดขาด แต่เธอบอกว่า ภาพของความเสียหายจะชัดเจนมากขึ้นในวันพฤหัสบดี 

 

บาเนอร์จี ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านและเป็นหนึ่งในผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดียอย่างเผ็ดร้อน กล่าวอีกว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤตรุนแรง 3 อย่างพร้อมกัน คือการระบาดของไวรัสโควิด-19, แรงงานอพยพหลายหมื่นคน ซึ่งกำลังเดินทางกลับบ้านจากมาตรการล็อคดาวน์ และขณะนี้ ต้องพบกับความเลวร้ายของไซโคลนกำลังแรงอีก ซึ่งมาตรการคุมเข้มเพื่อหยุดยั้งการระบาดของไวรัส กำลังเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อความพยายามบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน การระบาดของไวรัสและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing ทำให้การอพยพครั้งใหญ่เต็มไปด้วยความยากลำบากสำหรับเจ้าหน้าที่ ขณะที่ สถานที่พักพิงชั่วคราวก็ไม่สามารถรองรับได้เต็มความจุ

 

นอกจากนี้ ยังมีเด็กวัย 9 ขวบเสียชีวิตจากดินถล่ม และผู้หญิงอีกคนหนึ่ง เสียชีวิตจากต้นไม้ล้มทับในศรีลังกา ซึ่งเป็นอิทธิพลจากไซโคลน "อำพัน" ที่พัดผ่านชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศ ส่วนอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บจากดินถล่ม ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องอพยพประชาชน 60 คน จากบ้านเรือน 17 หลัง ในเขตรัตนาปุระ ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก หลังเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ไหลหลากจากภูเขาที่อยู่ด้านหลังบ้านเข้าท่วมบ้านเรือน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมและดินถล่ม ได้รับคำเตือนอาจต้องอพยพ

 

 

เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com  

facebook : TNNThailand 

twitter : @TNNThailand 

Line : @TNNThailand 

Youtube Official : TNNThailand

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง