รีเซต

เปิดเทรนด์ตลาด Flexitarian และ Vegan ตลาดไหนมาแรงกว่ากัน?

เปิดเทรนด์ตลาด Flexitarian และ Vegan ตลาดไหนมาแรงกว่ากัน?
TNN ช่อง16
10 พฤศจิกายน 2564 ( 17:45 )
162

พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้บริโภคบางส่วนลดการรับประทานเนื้อสัตว์ และบางส่วนที่งดเนื้อสัตว์ไปเลย ซึ่งก็ทำให้หลายๆธุรกิจมีการปรับตัว โดยเฉพาะตลาดผลิตภัณฑ์โปรตีนประเภทพืชแทนเนื้อสัตว์ หรือ Plant-Based Food   ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ สอดรับกับเทรนด์ Flexitarian ที่มีทีท่าว่าจะโตแซง Vegan อีกด้วย


รู้จัก Flexitarian กับ Vegan ต่างกันอย่างไร? 

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าความแตกต่างของ  Flexitarian กับ Vegan ผู้บริโภคทั้งสองกลุ่มนี้เลือกทานอาหารอย่างไร   โดย Flexitarian” เรียกง่ายๆว่า มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ซึ่งก็คือ กลุ่มคนที่หันมารับประทานมังสวิรัติแนวใหม่ก็ได้ เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ได้เคร่งครัดมากจนเกินไป โดย Flexitarian มีที่มาจากคำว่า Flexible ที่มีความหมายว่ายืดหยุ่น กับคำว่า Vegetarian ที่หมายถึงการรับประทานอาหารประเภทมังสวิรัติ มารวมกันจนกลายเป็นคำใหม่ที่เริ่มใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อดีตรงที่ยังคงสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้บ้างเป็นครั้งคราว เพียงแต่ลดปริมาณลง และหันไปเน้นการบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชเป็นหลักแทน ไม่ได้กระทบวีถีชีวิตเดิม ๆ มากนัก   
ส่วน Vegan จะเป็นกลุ่มที่รับประทานมังสวิรัติแบบเคร่งครัด เลือกทานแค่ผักผลไม้ไม่มีเนื้อสัตว์เลย  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอยู่บ้างหากจะต้องไปกินข้าวกับเพื่อนหรืองานเลี้ยงสังสรรค์  ดังนั้น Flexitarian จึงกลายมาเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน 

ภาพประกอบ: AFP

สถาบันวิจัยการตลาดระดับโลกอย่าง Euromonitor International และ Allied Market Research คาดการณ์จากผลสำรวจว่า ภายในปี 2024 มูลค่าตลาด Plant-based Food ทั่วโลกจะเติบโตมากขึ้นถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ   ซึ่งตลาด Plant-Based Food ในประเทศไทยเองก็เติบโตขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 10% และคาดว่าน่าจะมีโอกาสสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท  


แนวโน้มตลาดและการแข่งขัน  Flexitarian 

นายวัชรพล ประสพเกียรติโภคา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจคาร์กิลล์โปรตีน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เปิดเผยว่า  ตลาด Flexitarian  เป็นตลาดที่น่าสนใจและจะยังคงเติบโตต่อไป ผู้บริโภคไทยแสดงความสนใจที่เพิ่มขึ้น 45% ในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์การเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคกลุ่มนี้ทานเนื้อสัตว์น้อยลงและบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่กลุ่มผู้บริโภคแบบ Flexitarian มีขนาดเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะขยายตัวเป็น 25% ของประชากรไทย   โดยผู้บริโภคแบบวีแกนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเช่นกัน แต่หากเทียบกันแล้วส่วนแบ่งการตลาดอาจมีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่ม Flexitarian เนื่องจากข้อจํากัดด้านการบริโภค

ภาพประกอบ: PR คาร์กิลล์ ประเทศไทย


ที่สำคัญคือผู้บริโภคเปิดใจลองใช้ตัวเลือกผลิตภัณฑ์โปรตีนใหม่ ๆ และเริ่มสนใจบริโภคโปรตีนจากพืช ทำให้บรรดาผู้ผลิตมีการเปิดตัวแบรนด์และผลิตภัณฑ์ในตลาดนี้มากขึ้น  เพื่อเป็นตัวเลือกและสร้างความหลากหลายของสินค้าให้กับผู้บริโภค ซึ่งมีส่วนทําให้กลุ่มผู้บริโภคเลือกทานเนื้อสัตว์น้อยลงและเลือกทานโปรตีนจากพืชมากขึ้นทั่วโลก ทำให้ตลาด flexitarian และตลาดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง  และเมื่อมีผู้บริโภคกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นการแข่งขันจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งก็ได้กลายเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตขึ้นในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทางเลือกคิดเป็น 22% ของมูลค่ายอดขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ทั่วโลก  โดยที่ตลาดที่เติบโตมากที่สุดคือที่ยุโรป และจีน  ส่วนตลาดผลิตภัณฑ์จากพืชในประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ย 10% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า แม้ว่าผู้บริโภคจะใส่ใจในด้านสุขภาพแต่รสชาติยังเป็นกุญแจที่สําคัญต่อการซื้อซ้ำ

ภาพประกอบ: PR คาร์กิลล์ ประเทศไทย


อีคอมเมิร์ซตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคและเจ้าของแบรนด์ -โควิดเป็นตัวเร่ง

คาร์กิลล์ได้ศึกษาเกี่ยวกับตลาดผู้บริโภคมังสวิรัติยืดหยุ่น พบว่า 53% ของผู้บริโภคคนไทยต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และเชื่อว่าแนวโน้มของผู้บริโภค  Flexitarian  ในประเทศไทยจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้หลายแบรนด์กําลังแข่งขันในตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งรสชาติและตัวเลือกถือเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน  เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชยังไม่มีเมนูและตัวเลือกที่หลากหลายนัก ประกอบกับเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่จึงมีโอกาสอีกมากที่จะทําการตลาด  และผู้เล่นในตลาดเองก็มีโอกาสที่เท่ากัน และต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยรวม โดยเฉพาะความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ หรือความสะดวกสบายในสั่งซื้อ

"ตลาด flexitarian โดยรวมมีแนวโน้มจะโตมากขึ้นเรื่อยๆถึง 10% ต่อปี เพราะคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น สำหรับ Cargill มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเกินกว่าที่คาดไว้ เพราะมีการเจาะตลาดออนไลน์ โดยขายทางช่องทาง e-commerce เช่นที่ Shopee และ Lazada และบน Facebook ของ Plantever เอง" นายวัชรพล  กล่าว


กลยุทธ์ของคาร์กิลล์ 

ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชไม่เพียงแต่ใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพ แต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย โดยคาร์กิลล์มีเป้าหมายในการเติบโตอย่างยั่งยืนในแง่ของการผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งกลยุทธ์หลักของคาร์กิลล์  ได้แก่
1. เน้นขายบน e-commerce เช่น  Lazada , Shopee  
2. เน้นนวัตกรรมการวิจัย และการพัฒนา (R&D) โดยให้ความสำคัญกับรสชาติที่อร่อย และเนื้อสัมผัสที่ต้องทำออกมาให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากที่สุด โดยผลิตภัณฑ์ถัดไปที่จะออกมาในตลาดคือ meatball หลังจากที่ปล่อย plant-based nugget เป็นสินค้าตัวแรก  
3. Cargill เน้น sustainability ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้ระบบน้ำหมุนเวียน

นอกจากนี้ คาร์กิลล์ยังมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และศูนย์นวัตกรรมตั้งอยู่ทั่วภูมิภาค คาร์กิลล์มีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก รวบรวมข้อมูลเชิงลึกและเทคโนโลยีระดับโลกและท้องถิ่นโดยมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์รสชาติของโปรตีนจากพืชที่ให้รสชาติและเนื้อสัมผัสที่ถูกปากผู้บริโภคคนไทย โดยตั้งเป้าเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ลงสู่ตลาดไตรมาสละ 1 ผลิตภัณฑ์    ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของคาร์กิลล์ในเมืองไทยถูกส่งออกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก รวมทั้ง อเมริกา ออสเตรเลียและ จีน โดยมีฐานการผลิตควบคู่ไปกับเนื้อไก่ ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท โดยจะทยอยเพิ่มเนื้อปลา เนื้อหมูเข้ามาด้วย ขณะเดียวกันกำลังมองหา partner อื่นๆผ่านช่องทาง e-commerce ด้วย


"ตลาด flexitarian ในภาพรวม มีโอกาสที่จะเติบโตเยอะมาก มีผลสำรวจพบว่า 53% ของคนไทยต้องการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ตลาดจึงมีแนวโน้มจะโตขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายต้องมาวัดกันที่ innovation ว่าบริษัทไหนดีกว่ากัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนไทยคือรสชาติที่ถูกปาก ควบคู่ไปกับโภชนาการ " 

ภาพประกอบ: PR คาร์กิลล์ ประเทศไทย


ข้อมูลอ้างอิง : www.ttbbank.com 

ข้อมูลจาก : นายวัชรพล ประสพเกียรติโภคา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจคาร์กิลล์โปรตีน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพประกอบ: AFP, PR คาร์กิลล์ ประเทศไทย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง