รีเซต

เปรียบเทียบภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์และกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์

เปรียบเทียบภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์และกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์
TNN ช่อง16
12 พฤษภาคม 2565 ( 01:03 )
206
เปรียบเทียบภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์และกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์

นาซาเปิดเผยภาพเปรียบเทียบภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์และกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ โดยถ่ายภาพบริเวณกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) แสดงให้เห็นความคมชัดของภาพที่แตกต่างกันระหว่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศ 2 ตัว ที่มีอายุต่างกันเกือบ 20 ปี และด้วยขีดความสามารถของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์จะนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ ได้ในอนาคต



ที่มาของรูปภาพ NASA

 



ภาพแรกทางขวามือแสดงให้เห็นจุดแสงของกลุ่มดาวบริเวณกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ถูกถ่ายด้วยกล้องอินฟราเรดอาร์เรย์ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2003 และปลดประจำการในปี 2020 ภาพที่สองทางซ้ายมือถูกถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ที่แสดงรายละเอียดของภาพมีกลุ่มดาว ฝุ่นและก๊าซที่ความคมชัดมากกว่า


ภาพที่ถูกถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ใช้อุปกรณ์ที่มีชื่อว่า MIRI (Mid-Infrared Instrument) ทำงานในช่วงคลื่น 7.7 ไมครอน จากภาพที่กล้องส่งกลับมายังโลกทำให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นการปล่อยก๊าซ โพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons) หรือโมเลกุลของคาร์บอนและไฮโดรเจนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลความร้อนและเคมีของก๊าซระหว่างดวงดาว ซึ่งในอนาคตอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจเกี่ยวกับการกำเนิดของดาวฤกษ์และระบบดาวเคราะห์น้อย


กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่ล่าสุดและใช้งบประมาณในการพัฒนาสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์หรือ 335,300 ล้านบาท เทคโนโลยีของกล้องมีลักษณะเป็นโทรทรรศน์อวกาศประเภทคลื่นอินฟราเรด ติดตั้งแผ่นกระจกทรง 6 เหลี่ยม ขนาดใหญ่ 18 แผ่น ความกว้างรวมกัน 6.5 เมตร ด้านบนของตัวกล้องเรียกว่า Optical Telescope Element (OTE) แผ่นกระจกทรง 6 เหลี่ยมแต่ละชิ้นมีขนาดประมาณ 1.32 เมตร 


เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศประเภทคลื่นอินฟราเรดจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพในอุณหภูมิต่ำทำงานได้ดีในอุณหภูมิต่ำทีมงานวิศวกรจึงได้ออกแบบ แผ่นบังแสงดวงอาทิตย์ (Sunshield) ขนาดใหญ่หลายตารางเมตรผลิตจากวัสดุผสมซิลิคอน อะลูมิเนียมและทองคำเพื่อช่วยป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์และรักษาอุณหภูมิของกล้องเอาไว้ที่ -223 องศาเซลเซียส ปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์อยู่ในตำแหน่งจุดลากรางจ์ (Lagrange Point) 2 หรือ L2 และเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อส่งข้อมูลภาพถ่ายและข้อมูลสำคัญของอวกาศที่มนุษย์อาจไม่เคยค้นพบมาก่อน 


ที่มาของข้อมูล space.com 

ที่มาของรูปภาพ blogs.nasa.gov 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง