ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ทรัมป์ขึ้นภาษีการค้า ฉุดตลาด ESG

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการออกตราสารหนี้ ESG ใหม่ในสหรัฐฯ ยังคงหดตัวอย่างรุนแรงจากแนวนโยบายของทรัมป์ โดยมียอดออกใหม่เพียง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 2568 น้อยกว่าราว 10 เท่าจาก มี.ค. 2567 ที่ออกใหม่ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยอดตราสารหนี้ ESG ใหม่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม เนื่องจากทรัมป์ต่อต้าน ESG และขึ้นภาษีทางการค้า สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ส่ส่งผลให้ยอดคงค้างตราสารหนี้ ESG อยู่ที่ 280,9000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ ตลาดตราสารหนี้ ESG จีนอยู่ในทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมประกาศรายละเอียด Green Bond รุ่นแรกในลอนดอน ทั้งนี้ จีนมียอดคงค้างตราสารหนี้ ESG 295,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมียอดตราสารหนี้ออกใหม่ในเดือน มี.ค. 2568 อยู่ที่ 7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราวครึ่งหนึ่งมาจากธุรกิจภาคอุตสาหกรรม
สำหรับยอดคงค้างตราสารหนี้ ESG ไทยทรงตัว แต่จะได้ผลดีบ้างจากกองทุน Thai ESGX รวมทั้งการผิดนัดชำระหนี้และต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับลดลง ยอดคงค้างตราสารหนี้ ESG ไทยทรงตัวที่ 25,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568 ครม. มีมติเห็นชอบการจัดตั้งกองทุน Thai ESGX ที่เน้นการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของบริษัทที่ผ่านการประเมิน ESG มากกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ( NAV) ประกอบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังไม่มีข่าวบริษัทใหญ่ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเติม และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้การออกตราสารหนี้ทั่วไปและ ESG ปรับเพิ่มขึ้นบ้างในระยะถัดไป
ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าตลาดตราสารหนี้ ESG ในสหรัฐฯชะลอลงมากขึ้น จากการดำเนินนโยบายของทรัมป์ที่ต่อต้าน ESG และความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ ESG ในจีนจะขยายตัวเร่งขึ้น จากการที่ภาครัฐและเอกชนขยายการระดมทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปลงทุนในโครงการลดการปล่อยคาร์บอน
ส่วนไทยขยายตัวได้บ้าง ส่วนหนึ่งจากความชัดเจนของกองทุน Thai ESGX และความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้เริ่มปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จากสหรัฐฯ อาจส่งผลให้บริษัทชะลอการระดมทุนในโครงการใหม่บ้างในระยะสั้น โดยผลกระทบจะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาของภาครัฐ