สหรัฐ VS จีน ผลัดกันขึ้นภาษี ? จะไปสุดที่ตรงไหน ไม่มีใครชนะ ในสงครามการค้าโลก

"สงครามการค้าโลก" กำลังเริ่มขึ้นแล้ว แล้ว "จะไปสุดที่ตรงไหน ? "
การตอบโต้ไปมาระหว่างสหรัฐกับจีน ผลัดกันขึ้นภาษี จนตอนนี้อัตราภาษีพุ่งไปสูงสุดครั้งประวัติศาสตร์
ซึ่งทางการจีนก็ได้ออกมาย้ำและประกาศกร้าวแล้วว่า "จะขอสู้จนถึงที่สุด"
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายการค้าเชิงรุก หวังหารายได้เข้าสู่ประเทศ
ด้วยการใช้ภาษีศุลากรแบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) หรือ "ภาษีตอบโต้" ที่คนเรียกกัน
เริ่มต้นลงนามประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568
ประกอบไปด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าไปยังทั่วโลก Baseline Tariffs 10 %
และ Reciprocal Tariffs ที่เจาะจงตัวเลขภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศมากน้อยแตกต่างกันไป โดยวัดจากการขาดดุลการค้า
เช่น ประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษี 36% เวียดนาม 46 %
และล่าสุด 9 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้สั่งระงับภาษีดังกล่าวนี้แล้วเป็นการชั่วคราว 90 วัน เพื่อให้เวลานานาชาติได้เข้ามาเจรจาต่อรอง
เว้นเพียงประเทศเดียวที่ไม่ได้รับการระงับและเดินหน้าต่อ คือ "จีน" พร้อมขึ้นภาษีไปอีก เป็น 125 %
เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ไม่พอใจที่ทางการจีนตอบโต้กลับสหรัฐฯด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าจีนเช่นกัน
ขณะที่ชาติอื่นๆรวมถึงประเทศไทยต่างก็กำลังเข้าคิวรอคอยการเข้าไปเจรจาต่อรองกับทางการสหรัฐฯหวังจะลดระดับภาษีได้
" จีน " ไม่ได้สู้เพียงลำพัง ?
ล่าสุด 10 เมษายน 2568 กระทรวงพาณิชย์จีนแถลง ว่า จีนและสหภาพยุโรป (EU)
ตกลงที่จะร่วมมือกันสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลาง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า แถลงการณ์นี้มีขึ้นหลังจากการหารือผ่านวิดีโอเมื่อวันอังคาร (8 เมษายน 2568 )
ระหว่าง "หวัง เหวินเทา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน และ "มารอช เชฟโชวิช" คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
โดยทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยในหลายประเด็น ทั้งการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-EU
และแนวทางการรับมือกรณีที่สหรัฐฯ ใช้ “ภาษีตอบโต้” (Reciprocal tariff)
รัฐมนตรีพาณิชย์จีน ชี้ว่า มาตรการ “ภาษีตอบโต้” ของสหรัฐฯ
เป็นการละเมิดผลประโยชน์โดยชอบธรรมของประเทศอื่นอย่างร้ายแรง
ขัดต่อกฎเกณฑ์ของ WTO ทำลายระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา
และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก
พร้อมย้ำกว่า การกระทำของสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างชัดเจนของแนวคิดการดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว
การกีดกันทางการค้า และการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจรังแกผู้อื่น จีนคัดค้านเรื่องนี้อย่างยิ่ง
และได้ดำเนินมาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง
“ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า และการกีดกันทางการค้าไม่นำไปสู่อะไร” คำกล่าวของรัฐมนตรีพาณิชย์จีน
และเผยอีกว่า จีนพร้อมที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านการเจรจาหารือ แต่ก็พร้อมจะต่อสู้ถึงที่สุดหากสหรัฐฯ ยังคงดึงดันที่จะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป
ในสถานการณ์ปัจจุบัน การที่จีน-EU ร่วมกันปกป้องระบบการค้าพหุภาคีตามกฎเกณฑ์
และยึดมั่นในการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกทางการค้า
จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพและความแน่นอนให้กับเศรษฐกิจและการค้าโลกได้มากขึ้น
ขณะที่ เชฟโชวิชกล่าวว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการค้าระหว่างประเทศ
และ EU พร้อมที่จะทำงานร่วมกับสมาชิก WTO อื่น ๆ รวมถึงจีน เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินไปได้อย่างปกติ
เชฟโชวิชกล่าวเสริมว่า EU ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับจีน
และพร้อมที่จะเพิ่มการพูดคุยสื่อสารกับจีน ส่งเสริมการเข้าถึงตลาด การลงทุน และความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมระหว่างสองฝ่ายให้มากขึ้น
ตามแถลงการณ์ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเริ่มหารือประเด็นการเข้าถึงตลาดโดยเร็วที่สุด
และจะเริ่มเจรจาทันทีเกี่ยวกับข้อตกลงด้านราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV)
รวมถึงประเด็นความร่วมมือด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ระหว่างสองฝ่าย
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังสนับสนุนการฟื้นฟูกลไกการหารือเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาทางการค้าระหว่างจีน-EU
เพื่อพูดคุยในประเด็นการเบี่ยงเบนทางการค้า (trade diversion) และบริหารจัดการข้อพิพาททางการค้าอย่างเหมาะสม
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะกระชับการสื่อสารอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบ WTO
ร่วมกันผลักดันการปฏิรูป WTO และสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีโดยมี WTO เป็นแกนกลางต่อไป
"ประธานาธิบดีทรัมป์" ชื่นชมผลงานของตัวเอง
ในฟากฝั่งของสหรัฐ ฯ ประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้เดินเกมครั้งนี้ก็ยังคงมั่นใจ และเพิ่มเฉยต่อทุกการตอบโต้
พร้อมย้ำชัดเจนว่า ภาษีนำเข้าเป็น “ยา” ต่างชาติต้องยอมจ่าย แม้หุ้นจะตกแค่ไหนก็ไม่สำคัญ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ยืนกรานว่ารัฐบาลต่างชาติจะต้องจ่ายเงินจำนวนมาก
หากต้องการยกเลิกมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่าเป็นเสมือน “ยารักษาโรค”
ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568
“ผมไม่ได้อยากให้อะไรมันแย่ลง แต่บางครั้งคุณต้องกินยาเพื่อแก้ปัญหา”
โดยไม่มีท่าทีกังวลใดๆ แม้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะสูญเสียมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์แล้วก็ตาม
ทรัมป์เผยว่า ได้พูดคุยกับผู้นำจากยุโรปและเอเชียในช่วงสุดสัปดาห์
ซึ่งพยายามโน้มน้าวให้เขาลดอัตราภาษีนำเข้าที่สูงถึง 50%
แต่เขายืนยันว่า จะไม่มีการเจรจาใดๆ หากประเทศเหล่านั้นไม่ยอมจ่ายภาษีที่เหมาะสมให้กับสหรัฐฯ เป็นประจำทุกปี
ขณะที่ข้อมูลจากรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการประกาศมาตรการภาษี
ก็มีรัฐบาลกว่า 75 ประเทศได้ติดต่อขอเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ทรัมป์อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบในการเจรจา
อย่างไรก็ตามแม้ประธานาธิบดีทรัมป์ จะมองว่าตัวเองหรือสหรัฐฯมีแต้มต่อในวันนี้
แต่ในมุมมองของหลายฝ่าย ยังคงย้ำชัดเจนว่า
ในสงครามการค้า จะไม่มีใครเป็นฝ่ายชนะที่แท้จริง
และคนที่พ่ายแพ้หรือเจ็บช้ำที่สุดคือประชากรโลก จากเศรษฐกิจที่พังทลายลง
เลขาฯ UN เตือน ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า
" ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า "
คือคำย้ำเตือนจากทางทาง UN
สเตฟาน ดูจาริก โฆษกของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN)
อ้างอิงคำเตือนของกูเตอร์เรสที่ระบุว่าไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า
ระหว่างตอบคำถามถึงความเห็นของเลขาธิการยูเอ็นเกี่ยวกับนโยบายภาษีล่าสุดของทำเนียบขาว
ดูจาริกกล่าวว่าความกังวลของเราขณะนี้คือกลุ่มประเทศเปราะบางที่สุด
ซึ่งมีเครื่องมือรับมือสถานการณ์ปัจจุบันน้อยที่สุด
พร้อมชี้ว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้าโลก
ทั้งนี้ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)
ออกแถลงการณ์เตือนเมื่อ วันที่ 4 เมษายน 2568
ว่าภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ กำหนดนั้นจะส่งผลเสียต่อประเทศเปราะบาง
พร้อมเสริมว่าระบบการค้าโลกกำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤติ
ซึ่งคุกคามการเติบโต การลงทุน และความก้าวหน้าของการพัฒนา
โดยเฉพาะสำหรับเศรษฐกิจที่เปราะบางที่สุด
ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่ก็กำลังเตรียมกำหนดภาษีใหม่ครั้งใหญ่
WTO ชี้ “ภาษีทรัมป์”กระทบหนัก คาดการค้าโลกติดลบ 1 %
เช่นเดียวกับองค์การการค้าโลก หรือ WTO
ล่าสุด เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวลา ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO)
แสดงความกังวลเกี่ยวกับการลดลงของปริมาณการค้าโลก และการเกิดสงครามการค้า
พร้อมกล่าวว่า มาตรการภาษีของสหรัฐจะส่งผลกระทบอย่างมี “นัยสำคัญ”ต่อการค้าโลก
และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
WTO คาดการณ์ว่า มาตรการเที่สหรัฐบังคับใช้
จะส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกลดลงราว 1% ในปีนี้
IMF ชี้ “ภาษีทรัมป์“ ทำเศรษฐกิจโลก เสี่ยง เรียกร้องเจรจาสร้างสรรค์
ขณะที่ IMF คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ออกแถลงการณ์เตือนว่า มาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
จะส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอ่อนแอลง
พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและประเทศคู่ค้าทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
เพื่อแก้ไขความตึงเครียดทางการค้าและลดความไม่แน่นอน
ไม่มีผู้ชนะ ในสงครามการค้า หมายความว่ามีแต่ผู้แพ้ ที่ไม่ใช่แค่จีน หรือแค่สหรัฐ
แต่หมายรวมถึงทั้งโลกใบนี้ เพราะเศรษฐกิจต่างก็เชื่อมโยงกัน
ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงเราไทยเองก็ต้องจับตาผลกระทบอย่างใกล้ชิดเช่นกัน