รีเซต

PwC คาดมูลค่าดีลในไทยพุ่งสูงใน 12 เดือนหน้า

PwC คาดมูลค่าดีลในไทยพุ่งสูงใน 12 เดือนหน้า
TNN Wealth
30 กันยายน 2564 ( 17:29 )
63
PwC คาดมูลค่าดีลในไทยพุ่งสูงใน 12 เดือนหน้า

PwC ประเทศไทย คาดปริมาณและมูลค่าการทำดีลส์ในประเทศไทยในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะสูงกว่าช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ หลังจากที่ภาคธุรกิจเริ่มมีความหวังว่าจะกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติได้อีกครั้ง

นางสาว ฉันทนุช โชติกพนิช หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานดีล บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 64 ปริมาณและมูลค่าการของการทำดีลในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งหลายบริษัทมองว่าเป็นจังหวะในการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ทบทวนธุรกิจในพอร์ตฟอลิโอ และความสามารถในการทำธุรกิจเดิมของตน ขณะที่บางแห่งตัดขายธุรกิจ หรือแสวงหาธุรกิจใหม่ที่ตนเองยังขาด หรือมีโอกาสเติบโตในอนาคตมากกว่าเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง โดยมองว่าการเกิดโควิด-19 เหมือนเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในโลก พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้คนพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น

สอดคล้องกับรายงาน Global M&A Industry Trends: 2021 mid-year outlook ของ PwC ที่วิเคราะห์การทำดีลทั่วโลกและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดีลเพื่อระบุถึงแนวโน้มสำคัญที่ขับเคลื่อนกิจกรรมการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) และคาดการณ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 64 และในปี 65 ที่พบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ทั่วโลกมีการทำดีลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าของดีล

โดยมูลค่าของดีลทั่วโลกยังสร้างสถิติการเติบโตมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อไตรมาส (ราว 33 ล้านล้านบาทต่อไตรมาส) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากบริษัทที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมเงินทุนไปซื้อบริษัทอื่น (Special purpose acquisition companies: SPAC) บวกกับการเพิ่มทุนของการลงทุนในหุ้นที่ไม่มีตลาดรอง (Private Equity: PE) และการเข้าซื้อกิจการขององค์กรโดยเน้นไปที่สินทรัพย์ทางด้านเทคโนโลยี

นางสาว ฉันทนุช กล่าวต่อว่า ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services) และกลุ่มสินค้าเพื่อผู้บริโภครายย่อย (Retail Consumer and Business to Customer) ของไทย ถือเป็นสองกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการทำดีลควบรวมและซื้อกิจการมากที่สุดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังมีธุรกิจบางประเภทที่เห็นการทำดีลน้อย เช่น โรงแรมและสายการบิน เพราะถึงแม้ตลาดจะมองว่า ธุรกิจเหล่านี้มีราคาถูกลงกว่าเดิมแล้ว แต่ผู้ซื้อกลับมองว่าธุรกิจเหล่านี้ยังไม่ใกล้เวลาฟื้นตัวจริง ๆ หากซื้อกิจการในเวลานี้ เงินที่ลงทุนก็จะจมหายไป เพราะไม่สามารถสร้างรายได้ หรือเงินสดหมุนเวียนในกิจการได้ทันที

โดยมองว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไปอาจมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์น่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและก่อสร้าง ฉะนั้น ธุรกิจที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เหล่านี้จะเป็นเทรนด์ในอนาคตของไทย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง