รีเซต

EU ยันต้องกำกับเนื้อหาให้ชัดว่าสร้างจาก AI หรือไม่

EU ยันต้องกำกับเนื้อหาให้ชัดว่าสร้างจาก AI หรือไม่
TNN ช่อง16
8 มิถุนายน 2566 ( 18:00 )
42
EU ยันต้องกำกับเนื้อหาให้ชัดว่าสร้างจาก AI หรือไม่

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และจำนวนผู้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างข้อความ รูปภาพ และวิดีโอก็เพิ่มเรื่อย ๆ สหภาพยุโรปหรือ European Union (EU) จึงออกมาเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำเริ่มควบคุมดูแลเนื้อหาต่าง ๆ ที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และติดป้ายกำกับ (Label) ให้ชัดเจนว่าเนื้อหาไหนสร้างมาจากปัญญาประดิษฐ์ หวังช่วยลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์


พบเนื้อหาเท็จที่ดูสมจริงจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น

ปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ สามารถสร้างเนื้อหาต่าง ๆ เช่น รูปภาพ วิดีโอ ได้เหมือนจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ และเนื้อหาบางอย่างก็เหมือนจริงเสียจนมนุษย์เองแยกแทบไม่ออกว่าข้อมูลไหนสร้างจากปัญญาประดิษฐ์กันแน่ เช่น ภาพ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือ ‘โป๊ปฟรานซิส’ สวมเสื้อกันหนาวแฟชั่น ซึ่งเป็นภาพปลอมสร้างจากปัญญาประดิษฐ์ มิดเจอร์นีย์ (Midjourney) ที่กลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 


ภาพจาก CBS

หรือ ภาพเหตุระเบิดใกล้ตึกเพนตากอน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ  ซึ่งภาพปลอมนี้ส่งผลทำให้ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ดิ่งตัวลงเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ได้รับเครื่องหมายยืนยันตัวตน และ สำนักข่าวหลายสำนัก เช่น รีพับลิค (Republic) สำนักข่าวจากประเทศอินเดีย และ รัสเซียทูเดย์ (Russia Today) สำนักข่าวรัสเซียที่ควบคุมโดยรัฐ ต่างเผยแพร่ภาพดังกล่าว จนเกิดความวุ่นวายบนโลกออนไลน์กันยกใหญ่เลยทีเดียว


ภาพจาก Hindu

 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเป็นกังวลว่า ในอนาคตผู้ไม่หวังดีจะฉวยโอกาสใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมมากขึ้น


EU กังวลว่า AI สร้างข้อมูลเท็จได้เร็วเกินควบคุม

สหภาพยุโรปถือเป็นหน่วยงานกลุ่มแรก ๆ ที่ผลักดันกฎหมาย เพื่อกำกับดูแลการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ แต่กระบวนการการร่างกฎหมายดังกล่าวยังต้องใช้เวลา ทำให้เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายกังวลว่า กฎหมายอาจจะก้าวไม่ทันเทคโนโลยี ซึ่งมีความก้าวหน้าขึ้นทุกวัน


โดย เวรา จูโรวา (Vera Jourova) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านค่านิยมและความโปร่งใสกล่าวว่า “ความสามารถของแชทบอต (Chatbot) รุ่นใหม่ ซึ่งสร้างเนื้อหาและรูปภาพที่มีความซับซ้อนได้ในไม่กี่วินาที จะทำให้เกิดความท้าทายใหม่ในการต่อสู้ข้อมูลเท็จ" เนื่องจากแชทบอตใช้งานง่าย เพียงแค่พิมพ์ข้อมูลหรือคำสั่งไม่กี่ประโยค ปัญญาประดิษฐ์พร้อมจะสร้างเนื้อหาปริมาณมหาศาลให้แก่ผู้ใช้ในเวลาไม่นาน


โดยแชทบอตเป็นซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่ง ซึ่งโต้ตอบบทสนทนากับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำงานด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing: NLP) ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีตัวอย่างแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น แชทจีพีที (ChatGPT) บาร์ด (Bard) และ อลิสา (Alisa) แชทบอตสัญชาติไทย


EU ขอความร่วมมือจากบริษัทใหญ่

ด้วยข้อกังวลและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทางสหภาพยุโรปจึงร้องขอให้ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำต่าง ๆ อย่างเช่น กูเกิล เมตา ไมโครซอฟท์ และบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ร่วมลงชื่อในข้อตกลงว่าด้วยการต่อสู้กับข้อมูลเท็จกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป เพื่อควบคุมปัญหาที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์


ส่วนแพลตฟอร์มที่มีปัญญาประดิษฐ์ให้บริการ เช่น เซิร์ชเอนจินหรือโปรแกรมค้นหาข้อมูล บิง (Bing) ของไมโครซอฟท์ หรือ บาร์ด (Bard) แชทบอตของกูเกิล สหภาพยุโรปเห็นว่าควรมีมาตรการป้องกัน “ผู้ประสงค์ร้าย” ไม่ให้ใช้ปัญญาประดิษฐ์สร้างข้อมูลเท็จ และพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยตรวจจับเนื้อหา และติดป้ายกำกับ (Label) ให้ชัดเจนว่าข้อมูลไหนสร้างมาจากปัญญาประดิษฐ์ 


อย่างไรก็ดี บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง กูเกิล ไมโครซอฟท์ และ เมตา ยังไม่มีการเคลื่อนไหวหรือ แสดงท่าทีชัดเจนต่อคำร้องขอดังกล่าวจากสหภาพยุโรป แต่ เธียร์รี่ เบรตัน (Thierry Breton) คณะกรรมาธิการยุโรปด้านนโยบายดิจิทัลยืนยันว่า เขาจะเข้าไปยังบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำด้วยตัวเอง เพื่อพูดคุย ติดตามประเด็นดังกล่าว ไปจนถึงทดสอบว่าบริษัทต่าง ๆ มีความพร้อมในการจัดการกับข่าวปลอมมากน้อยเพียงใด 


อย่างไรก็ตาม นอกจากองค์กรภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำลังออกมาตรการมาควบคุมดูแลการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างข้อมูลผิดพลาดแล้ว คนทั่วไปเองก็ต้องมีทักษะในการทำความเข้าใจ และรู้เท่าทันเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า Digital literacy เพื่อป้องกันไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงด้วยปัญญาประดิษฐ์ ในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ในอนาคต


ที่มาข้อมูล NBC

ที่มาภาพ CBS, Hindu, Unsplash

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง