ขั้นกว่าของการสื่อสารจากนาซา ด้วยอุปกรณ์ส่งสัญญาณเลเซอร์ในอวกาศ
Laser Communications Relay Demonstration (LCRD) หรือการสื่อสารด้วยแสงเลเซอร์ ถูกพัฒนาโดยองค์การนาซา (NASA) เพื่อใช้ส่งถ่ายข้อมูลขนาดใหญ่อย่างภาพถ่ายและข้อมูลในการสำรวจอวกาศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประมาณมาก อีกทั้งยังเป็นข้อมูลความละเอียดสูง
สำหรับแสงเลเซอร์ที่ใช้เป็นแสงอินฟราเรด ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงไม่กระทบกับทัศนียภาพของมนุษย์บนพื้นโลก
โดยนาซาได้ออกแบบระบบสำหรับใช้งานการสื่อสารด้วยแสงเลเซอร์ขึ้นมา ประกอบไปด้วย ดาวเทียม หรือยานอวกาศ, อุปกรณ์สื่อสารด้วยแสงเลเซอร์ และสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดิน
ดาวเทียม หรือยานอวกาศจะทำการส่งข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ไปยังอุปกรณ์สื่อสารด้วยแสงเลเซอร์ที่โคจรอยู่ในวงโคจรรอบโลก หลังจากนั้นอุปกรณ์สื่อสารด้วยแสงเลเซอร์จะทำการถ่ายทอดแสงเลเซอร์ที่ได้รับมายังสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดิน
โดยสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินสำหรับโครงการนี้ ปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ภูเขาเทเบิล รัฐแคลิฟอร์เนีย และที่ภูเขาไฟฮาเลอาคาลา รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้ง 2 สถานที่ ถูกเลือกเป็นจุดจัดตั้งสถานีรับสัญญาณ เนื่องจากเป็นบริเวณที่ปกคลุมด้วยเมฆน้อย เพราะแสงเลเซอร์ดังกล่าวไม่สามารถเดินทางทะลุกลุ่มเมฆได้ดีนัก
สำหรับอุปกรณ์สื่อสารด้วยแสงเลเซอร์ดังกล่าว ถูกส่งขึ้นไปประจำการในวงโคจรรอบโลกที่ความสูงเหนือพื้นโลก 22,000 ไมล์ หรือ 35,000 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2021 โดยมันมีความสามารถในการดาวน์ลิงก์ข้อมูลที่อัตรา 1.2 กิกะบิตต่อวินาที
และในภารกิจอาร์เทมิส 2 (Artemis 2) จะมีการใช้อุปกรณ์สื่อสารด้วยแสงเลเซอร์ตัวนี้ในระหว่างภารกิจด้วย ซึ่งจะทำให้ภารกิจอาร์เทมิส 2 เป็นภารกิจส่งลูกเรือไปโคจรรอบดวงจันทร์ภารกิจแรกที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารด้วยเลเซอร์
อย่างไรก็ตาม แม้การสื่อสารด้วยแสงเลเซอร์นี้จะสามารถทำการส่งข้อมูลได้ในจำนวนที่มากและรวดเร็ว แต่เป็นวิธีการที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูงมากในการจัดตำแหน่งระหว่างดาวเทียม หรือยานอวกาศ, อุปกรณ์สื่อสารด้วยแสงเลเซอร์ และสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดิน
ข้อมูลและรูปภาพจาก www.nasa.gov