หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล แผนร่วมจ่าย(co-payment) และผลกระทบ
#หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล #ทันหุ้น – บทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล โดย บล.กสิกรไทย
ทำความเข้าใจแผนร่วมจ่ายและผลกระทบ
เบี้ยประกันสุขภาพมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมากกว่า 80% ออกโดยบริษัทประกันชีวิต และ 78% เป็นเบี้ยประกันสุขภาพรายบุคคล
แผนร่วมจ่าย (co-payment) ที่เป็นเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันสุขภาพถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2564 ขณะที่แผบร่วมจ่ายตั้งแต่วันแรกจะเริ่มขายในเดือนมี.ด. 2568
คาดแผนร่วมจ่ายจะส่งผลกระทบที่ไม่มีนัยต่อโรงพยาบาลเอกชนในระยะสั้น (1-2 ปี) และยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบในระยะกลางถึงระยะยาว
Investment Topics
แนวโน้มเบี้ยประกันสุขภาพในประเทศไทย อิงจากเบี้ยประกันสุขภาพสุทธิพบว่า กว่า 80% ของกรมธรรม์ประกันสุขภาพออกโดยบริษัทประกันชีวิต ขณะที่ส่วนที่เหลืออออกโดยบริษัทประกันวินาศภัย ตามข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตไทย (TLAA) เบี้ยประกันสุขภาพรวมในปี 2566 อยู่ที่ 9.02 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 5% YoY โดยแบ่งเป็นเบี้ยประกันรายบุคคล 78% และเบี้ยประกันกลุ่ม 22% นอกจากนี้ เบี้ยประกันสุขภาพรวมยังแบ่งเบี้ยประกันใหม่อยู่ที่ 1.92 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 8%YoY และเบี้ยประกันต่ออายุที่ 7.1 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 4% YoY โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 พบว่าทุกกลุ่มมีการเติบโดสูงกว่าการเติบโตในปี 2566
การนำแผนร่วมจ่าย (co-payment) มาให้บริการ ในเดือนพ.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ที่อนุญาตให้บริษัทประกันสามารถเพิ่มแผนร่วมจ่ายเป็นเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันสุขภาพได้ แต่ต้องมีการต่ออายุกรมธรรม์ทุกปี ในปี 2568 คปภ. ได้อนุมัติเกณฑ์ใหม่ที่อนุญาตให้บริษัทประกันชีวิตสามารถออกแผนประกันสุขภาพแบบร่วมจ่ายตั้งแต่วันแรก แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแผนที่จะให้บริการ แต่เราคาดว่าบริษัทประกันจะหยุดเสนอแผนที่จ่ายตามจริง (Non-Deductible Plan) เพื่อให้แผนร่วมจ่ายมีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลกระทบของแผนร่วมจ่ายต่อโรงพยาบาลเอกชน ตลาดมีความกังวลว่าแผนร่วมจ่ายจะส่งผลต่ออุปสงค์การรักษาพยาบาลผ่านการเปลี่ยนพฤติกรรมในการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลอย่างระมัดระวังขึ้น อย่างไรก็ตาม เราคาดว่ารายได้จากประกันของโรงพยาบาลเอกชนยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญใน 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้องใช้เวลาสักระยะก่อนที่แผนร่วมจ่ายจะมีสัดส่วนหลักของกรมธรรม์ประกันสุขภาพในประเทศไทย ในทางกลับกัน เรามองว่ามาตรการที่เข้มงวดมากในการเข้ารักษาพยาบาลแบบค้างคืนของบริษัทประกันน่าจะส่งผลต่อรายได้จากประกันของโรงพยาบาลมากกว่าแผนร่วมจ่าย
Valuation and Recommendation
จากการศึกษาตลาดประกันสุขภาพ เราพบว่าค่าเบี้ยประกันสุขภาพทั้งแบบรายบุคคลและกลุ่มยังคงเติบโตได้ดี ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อโรงพยาบาลเอกชน แม้ว่าจะมีการนำแผนร่วมจ่ายมาใช้ แต่ยังไม่น่าส่งผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อรายได้จากประกันของโรงพยาบาลเอกชนในระยะสั้น ขณะที่ผลกระทบในระยะกลางถึงยาวยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่ปรับตัวลดลง 10-20% ใน 1 เดือนที่ผ่านมา น่าจะสะท้อนความกังวลเรื่องผลกระทบจากแผนร่วมจ่ายไปแล้ว หุ้นเด่นของเรายังคงเป็น PR9