รีเซต

ทำความรู้จัก ‘บูกาลู’ กลุ่มหัวรุนแรงหวังโค่นรัฐบาลและนำสหรัฐฯ สู่สงครามกลางเมือง

ทำความรู้จัก ‘บูกาลู’ กลุ่มหัวรุนแรงหวังโค่นรัฐบาลและนำสหรัฐฯ สู่สงครามกลางเมือง
TNN ช่อง16
19 มกราคม 2564 ( 14:30 )
528

สำนักสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ เตือนว่า กลุ่มแนวคิดหัวรุนแรงและเหยียดเชื้อชาติ มีแผนจะก่อความไม่สงบใน 50 รัฐทั่วประเทศ ในช่วงก่อนและระหว่างพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของโจ ไบเดน

หนึ่งในกลุ่มที่เราได้เห็นภาพออกมาชุมนุม พร้อมชุดรบยุทธวิธีและอาวุธปืนครบมือ คือ กลุ่มชื่อ ‘บูกาลู’ (Boogaloo) ซึ่งเคยประกาศเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนว่า สมาชิกกลุ่มจะออกมาประท้วงทั่วประเทศ

แม้จะมีจำนวนสมาชิกกลุ่มบูกาลู และผู้สนับสนุนทรัมป์จะออกมาชุมนุมในหลายเมืองเอกของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย เรียกว่าตำรวจและกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิจะมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า อย่างเห็นได้ชัด แต่ภาพผู้ชุมนุมติดอาวุธ ในรัฐที่อนุญาตให้พกพาอาวุธปืนได้ กลายเป็นภาพที่แปลกตา และสร้างความหวาดวิตกให้ประชาชนไม่น้อย



กลุ่มบูกาลู มีสัญลักษณ์คือสมาชิกที่พกพาอาวุธปืน สวมชุดรบยุทธวิธี หรือเสื้อฮาวาย ทางกลุ่มมีแนวคิดเชื่อมโยงกับนีโอนาซี และคนผิวขาวเป็นใหญ่ โดยต้องการก่อสงครามกลางเมืองทางเชื้อชาติครั้งที่ 2 ให้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ

กลุ่มบูกาลูเริ่มเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 เวลาพูดถึงอำนาจของคนขาว และกระแสต่อต้านรัฐบาล

เดวิน เบอร์กฮาร์ต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า กลุ่มบูกาลูเชื่อว่าหากก่อสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ขึ้นมาได้ จะช่วยขจัดปัญหาต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ให้หมดสิ้นไป ทางกลุ่มจึงมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาล สร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกแยกในสังคม

ทั้งนี้ จุดยืนของกลุ่มบูกาลู ไม่ใช่การเหยียดเชื้อชาติ และโค่นล้มรัฐบาลอย่างเดียว แต่ยังมีกลุ่มย่อยที่มีแนวคิดเสรีนิยมสุดโต่งด้วย เห็นได้จากการเข้าร่วมการประท้วง ‘แบล็กไลฟ์แมทเทอร์’ เพื่อต่อต้านตำรวจที่ใช้กำลังจับกุมคนผิวดำจนเสียชีวิต

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ชื่อ บูกาลู เป็นเสมือนโค้ดเนม อ้างถึงสงครามกลางเมืองครั้งที่สอง และมาจากภาพยนตร์ปี 1984 เรื่อง ‘เบรกกิ้ง ทู อิเล็กทริก บูกาลู’ ซึ่งเกี่ยวกับการเต้นเบรกแดนซ์ แต่กลับกลายมาเป็นคำแสลง ถึงภาคต่อของสงครามกลางเมืองอเมริกัน



สรุปได้ว่า หากมีความวุ่นวายที่ไหน กลุ่มบูกาลูก็พร้อมจะเข้าร่วม เพราะเป้าหมายของกลุ่มไม่ใช่การเลือกข้าง แต่เป็นการก่อภาวะอนาธิปไตย ให้รัฐบาลไร้ความหมาย สภาพสังคมล้มเหลว

รอยเตอร์สรายงานว่า มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดทั้งในกรุงวอชิงตันดีซี และอาคารราชการทั่วประเทศ อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้กลุ่มบูกาลูและผู้สนับสนุนทรัมป์ยกเลิกแผนชุมนุมใหญ่ เพราะในกลุ่มแชทของกลุ่มหัวรุนแรงได้บอกให้สมาชิกผู้ติดตามอยู่กับบ้านในช่วงนี้ โดยเตือนว่า นี่เป็นกับดักของเจ้าหน้าที่




อย่างไรก็ดี ที่รัฐเวอร์จิเนีย กลุ่มบูกาลูและกลุ่มสนับสนุนการครอบครองอาวุธปืนจำนวนหนึ่ง ออกมาชุมนุมกันค่อนข้างมากกว่าเมืองอื่น ๆ เนื่องในวัน ล็อบบี้เดย์ ซึ่งเป็นวันที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนแสดงความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ได้ ซึ่งการพกพาอาวุธปืนออกมาชุมนุมกันนั้น เป็นการแสดงออกเพื่อสนับสนุน มาตราที่ 2 ของรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยสิทธิในการถือครองปืนได้อย่างเสรี นั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง