รีเซต

(คลิป) เตือนไข้เลือดออกระบาด พบผู้ป่วยพุ่งเกิน 80,000 รายทั่วไทย

(คลิป) เตือนไข้เลือดออกระบาด พบผู้ป่วยพุ่งเกิน 80,000 รายทั่วไทย
TNN ช่อง16
15 กันยายน 2566 ( 16:24 )
41
(คลิป) เตือนไข้เลือดออกระบาด พบผู้ป่วยพุ่งเกิน 80,000 รายทั่วไทย


13 กันยายน 2566 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา  หรือ สคร.9 โดยนายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการฯ ได้สั่งกำชับเจ้าหน้าที่กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สคร.9 ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกทุกสัปดาห์  เนื่องจากพบยอดผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยสถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 4 กันยายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก มากถึง 87,163 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 73 ราย ซึ่งพบมากในกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ 


ในขณะที่เขตสุขภาพที่ 9  ประกอบด้วย 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ จ.นครราชสีมา ,ชัยภูมิ ,บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์  สถานการณ์ไข้เลือดออกใน ปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 กันยายน 2566 มีผู้ป่วยสะสม 6,349 รายแล้ว และมีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย  เมื่อเปรียบเทียบยอดผู้ป่วย พบว่า ปี 2566 มีผู้ป่วยไข้เลือดออก มากกว่าปี 2565 ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนถึงปัจจุบัน  โดยเฉพาะในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา หรือตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 - 2 กันยายน 2566 พบว่า ไข้เลือดออกระบาดอย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยมากถึง 4,181 ราย ซึ่งมากเกินครึ่งหนึ่งของยอดผู้ป่วยสะสมในปีนี้ และกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9  ปี และ 15-24 ปี ตามลำดับ  ทั้งนี้ เมื่อเรียงลำดับยอดผู้ป่วยสูงสุดช่วง 8 สัปดาห์ย้อนหลัง พบว่า อันดับ 1 คือ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยสูงสุด 1,426 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 มีผู้ป่วยแค่ 274 รายเท่านั้น ,  ลำดับที่ 2 คือ จ.นครราชสีมา  พบผู้ป่วย 1,304 ราย และช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว พบแค่ 271 ราย  , ลำดับ 3 คือ จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 757 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 มีผู้ป่วย 37 ราย  และลำดับที่ 4 คือ จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 694 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 มีผู้ป่วยแค่ 80 รายเท่านั้น 


จึงขอให้เฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและกลุ่มนักเรียน ถ้าตรวจพบผู้ป่วยจะต้องสอบสวนโรคเฉพาะผู้ป่วยทุกราย และดำเนินตามมาตรการควบคุมโรค  ควบคู่ไปกับค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด  นอกจากนี้ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้ตระหนักร่วมกันป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในบ้านตนเอง และคนในครอบครัวต้องดูแลกันเอง “บ้านใครบ้านมัน” นำมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค และ มาตรการ 5ป 1ข มาใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก


เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข เทศบาลตำบลพิมาย พร้อมอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ได้นำรถประชาสัมพันธ์ประชาชนให้ตระหนักถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก และให้ความรู้เรื่องการดูแลและการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อป้องกันไม่ให้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พร้อมกับร่วมกันรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือน-ชุมชน และจัดทีมเจ้าหน้าที่ฯ ออกพ่นหมอกควันในชุมชน แจกจ่ายทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือทรายอะเบทให้กับประชาชนในชุมชนเขตเทศบาลฯ  และโรงเรียนทุกแห่ง เพื่อตัดวงจร  ลดจำนวนยุงลายพาหะนำโรค และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงโดยเฉพาะภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ตุ่ม โอ่ง หรือภาชนะรองน้ำอื่นๆ ในอาคาร บ้านเรือน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคไข้เลือดออกระบาดในพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง