รีเซต

‘ทีเอชเอ’ เสนอรัฐตั้งกองทุนเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว วงเงิน 1 แสนล้านบาท

‘ทีเอชเอ’ เสนอรัฐตั้งกองทุนเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว วงเงิน 1 แสนล้านบาท
มติชน
6 สิงหาคม 2563 ( 07:45 )
53

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และตัวแทนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ว่า ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวที่มี 13 สาขาวิชาชีพ และมีจำนวนมาก อาทิ โรงแรม 1 หมื่นแห่ง บริษัททัวร์ 1 หมื่นราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น เพราะเชื่อว่าหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้จะไม่มีเงื่อนไขในการเข้าถึงอย่างจำกัด เหมือนของธนาคารพาณิชย์ ส่วนใครจะเป็นผู้ค้ำประกันนั้น ยังต้องรอการหารือถึงรายละเอียดเพิ่มเติม

 

นางสาวศุภวรรณกล่าวว่า หากประเมินเฉพาะธุรกิจที่พักแรมในไทย ปัจจุบันมีมูลค่าสินเชื่อในระบบรวม 7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เฉพาะธุรกิจที่พักแรม 4 แสนล้านบาท และที่พักแรมกับห้องอาหาร 3 แสนล้านบาท โดยธุรกิจโรงแรมที่มีแนวโน้มไปไม่รอด มีในส่วนของผู้ประกอบการขนาดเล็ก มูลค่าธุรกิจตั้งแต่ 5-20 ล้านบาท ซึ่งหากมองภาพเลวร้ายที่สุด มูลค่าสินเชื่อธุรกิจที่พักแรมที่อาจไปไม่รอดมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท จากที่ปิดตัวไปแล้วบางส่วนประมาณ 30% ซึ่งหากไตรมาส 4 นี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถมาเที่ยวไทยได้ คาดว่าจะมีการเลิกจ้างเกิน 50%

 

“การเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซอฟท์โลน เข้าถึงยากมาก เพราะธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ยังคงยึดหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ตามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพียง 390 ราย ที่เข้าถึงซอฟท์โลนได้ จากจำนวนผู้ประกอบการที่ยื่นขอกู้ทั้งหมดมากกว่า 1,000 ราย คิดเป็นวงเงินที่กู้ผ่านเพียง 1,000 ล้านบาท จากวงเงินซอฟท์โลนของธนาคารออมสิน รวม 20,000 ล้านบาท” นางสาวศุภวรรณกล่าว

 

นางสาวศุภวรรณกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเสนอขอให้รัฐบาลช่วยลดต้นทุนคงที่ของผู้ประกอบการ อาทิ 1.ขอให้สถาบันการเงินขยายเวลาพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมจะสิ้นสุดเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากมีผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 90% กู้เงินเพื่อมาสร้างและปรับปรุงกิจการ 2.ลดค่าน้ำค่าไฟ จากปกติหากโรงแรมปิดกิจการชั่วคราว ต้องจ่ายค่าไฟที่อัตรา 70% ของค่าไฟสูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา แต่พอได้รับการผ่อนปรนให้จ่ายตามจริงแล้ว 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ จึงเสนอให้ขยายไปอีก 6-12 เดือน และ 3.ช่วยเหลือแรงงานภาคท่องเที่ยว ผ่านการขยายเวลาจ่ายเงินชดเชยประกันสังคมจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 และให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมที่อัตรา 1% ต่อไปอีก 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายต้องกลับมาจ่ายที่อัตรา 5% เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง