รีเซต

อดีตทีมวิศวกรจาก NASA ใช้ความรู้สร้าง "Aquanaut" หุ่นยนต์สำรวจมหาสมุทร

อดีตทีมวิศวกรจาก NASA ใช้ความรู้สร้าง "Aquanaut" หุ่นยนต์สำรวจมหาสมุทร
TNN ช่อง16
5 สิงหาคม 2565 ( 11:25 )
138
อดีตทีมวิศวกรจาก NASA ใช้ความรู้สร้าง "Aquanaut" หุ่นยนต์สำรวจมหาสมุทร

ทีมวิศวกรพัฒนาหุ่นยนต์ที่เคยอยู่ศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ของนาซา (NASA) ในเมืองฮูสตัน ได้ตัดสินใจนำความรู้ในการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับสำรวจอวกาศ เพื่อมาใช้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับสำรวจห้วงทะเลลึก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมทางทะเล


"สิ่งที่นาซาสอนให้เราทำจริง ๆ ก็คือการรวบรวมซอฟต์แวร์ที่มีความยืดหยุ่นและแข็งแกร่ง พร้อมรูปพรรณสัณฐานภายนอกและคุณสมบัติเฉพาะที่มีความสามารถ และสามารถปรับใช้ในสภาพแวดล้อมระยะไกลได้” - นิก แรดฟอร์ด (Nic Radford) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ (CEO) ของนอติคัส โรโบติกส์ อิงค์ (Nauticus Robotics Inc.) กล่าว


นอกจากนี้ เขายังเคยดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการโครงการและหัวหน้าวิศวกรด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์อวกาศโรโบนอล 2 (Robonaut 2) ที่ศูนย์อวกาศจอห์นสันอีกด้วย ซึ่งเป็นโครงการ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างนาซาและเจเนอรัล มอเตอร์ (General Motors หรือ GM) ซึ่งโครงการนี้ส่งผลให้มีสิทธิบัตรประมาณ 50 ฉบับ โดยหลายฉบับได้ทำการค้าแล้วในรูปของถุงมือหุ่นยนต์ที่เจเนอรัล มอเตอร์และบริษัทอื่น ๆ ใช้ในที่ทำงาน


โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาเขาได้รวบรวมทีมที่นอติคัส โรโบติกส์ อิงค์ ซึ่งมีสมาชิกจำนวนกว่า 80 คน และมากกว่า 20 คน คือวิศวกรที่เคยทำงานในโครงการโรโบนอล 2


สำหรับใจความของการพัฒนาหุ่นยนต์ไม่ว่าจะทั้งแบบที่ใช้สำรวจในอวกาศ หรือแบบที่ใช้สำรวจมหาสมุทร คือการที่ผู้ควบคุมอยู่ห่างไกลจากหุ่นยนต์และข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบตัวของหุ่นยนต์ขณะปฏิบัติการมีน้อย ดังนั้นหุ่นยนต์จะต้องสามารถสัมผัสและเข้าใจสภาพแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ อีกทั้งยังต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้ โดยจะต้องอาศัยการรับคำสั่งจากผู้ควบคุมให้น้อยที่สุด

หลักการในการสร้างหุ่นยนต์สำรวจมหาสมุทรของนอติคัส โรโบติกส์ จึงถูกดัดแปลงมาจากหลักการในการสร้างหุ่นยนต์สำรวจอวกาศในโครงการโรโบนอล 2 นั่นเอง


โดยในช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัท นอติคัส โรโบติกส์ได้ผลิตหุ่นยนต์อควานอล (Aquanaut) จำนวน 2 ตัว และวางแผนที่จะสร้างเพิ่มอีก 20 ตัว ใน 3 ปี ต่อจากนี้ โดยบริษัทวางแผนที่จะใช้อควานอลเพื่อให้บริการในราคาที่ไม่แพงแก่อุตสาหกรรมในมหาสมุทร แทนที่จะขาย นอกจากนี้ทางบริษัทยังกำลังสร้างไฮโดรนอล (Hydronaut) เรือที่สามารถบังคับจากระยะไกล หรือนำทางได้ด้วยตัวเอง

“อวกาศน่าทึ่งมากเพราะรู้สึกว่ามีอยู่จริง อยู่ข้างนอกนั้น และผู้คนต้องการสำรวจมัน แต่ปรากฏว่ายังมีความท้าทายที่แท้จริงอีกมากมายที่อยู่ใต้มหาสมุทร และเราสามารถยืนหยัดที่จะสร้างนวัตกรรมมากขึ้นใน 'เศรษฐกิจสีน้ำเงิน'” - นิก แรดฟอร์ดกล่าว


ข้อมูลและภาพจาก spinoff.nasa.gov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง