รีเซต

นาซาเลื่อนภารกิจส่งยาน Dragonfly ไปสำรวจดวงจันทร์ไททันเป็นปี 2028

นาซาเลื่อนภารกิจส่งยาน Dragonfly ไปสำรวจดวงจันทร์ไททันเป็นปี 2028
TNN ช่อง16
5 ธันวาคม 2566 ( 12:58 )
50

วันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นาซาเปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดของภารกิจการส่งยานอวกาศ Dragonfly ไปสำรวจดวงจันทร์ไททันอาจต้องเลื่อนเป็นปี 2028 จากกำหนดการเดิมในปี 2025 เนื่องจากประสบปัญหาด้านงบประมาณของโครงการ ขณะที่การพัฒนายานอวกาศลำนี้อยู่ช่วงของการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ที่มีขนาดเท่ากับรถยนต์


“เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการระดมทุน และงบประมาณในปีการเงินปี 2024 และปี 2025 ทำให้ภารกิจของ Agency Program Management Council (APMC) ถูกเลื่อนออกไป” ลอรี เกลซ ผู้อำนวยการแผนกวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องเลื่อนภารกิจยานอวกาศ Dragonfly


รู้จักยานอวกาศ Dragonfly ของนาซา


ยานอากาศลำนี้ถูกออกแบบให้สามารถบินไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ของพื้นผิวดวงจันทร์ไททัน ดาวจันทร์บริวารของดาวเสาร์ โครงสร้างขนาดของยานกว้าง 3 เมตร ติดตั้งระบบใบพัดพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า 8 ชุด เนื่องจากระยะทางระหว่างดวงจันทร์ไททันกับโลกมีระยะห่าง 1,222 ล้านกิโลเมตร ทำให้ยานอวกาศ Dragonfly จำเป็นต้องมีระบบการบินอัตโนมัติ แตกต่างจากยานอวกาศลำอื่น ๆ ที่สามารถรอคำสั่งทุกอย่างจากเจ้าหน้าที่บนโลก


"ทีม Dragonfly ประสบความสำเร็จในการเอาชนะความท้าทายด้านเทคนิคและการเขียนโปรแกรม ในความพยายามอันกล้าหาญเพื่อรวบรวมข้อมูลวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ บนดวงจันทร์ไททัน" นิโคลา ฟ็อกซ์ รองผู้บริหาร NASA กล่าวอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับยานอวกาศ Dragonfly


รู้จักดวงจันทร์ไททัน ดวงจันทร์ของดาวเสาร์


ดวงจันทร์ไททันเป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5,100 กิโลเมตร ขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์ บริวารของโลกประมาณ 50% และมีมวลมากกว่าประมาณ 80% เป็นดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะ รองจากดาวบริวารแกนีมีดของดาวพฤหัสบดี  


นักวิทยาศาสตร์สนใจดวงจันทร์ไททัน เนื่องจากคาดว่าภูมิประเทศของดวงจันทร์ไททันเต็มไปด้วยแอ่งหลุมภูเขาไฟและภูเขาน้ำแข็ง รวมไปถึงทะเลสาบไฮโดรคาร์บอนเหลว ก่อนหน้านี้นาซาเคยส่งยานอวกาศแคสซินี-เฮยเคินส์ ไปสำรวจดวงจันทร์ไททันมาแล้วในปี 1997 ยานเดินทางถึงดวงจันทร์ไททันในปี 2005 โดยยานเฮยเคินส์ได้ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ไททันได้สำเร็จและส่งข้อมูลล้ำค่ากลับมายังโลก



ที่มาของข้อมูล Space.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง