นาซาเผยภารกิจจูโนตรวจพบ 'เกลือ-สารอินทรีย์' บนพื้นผิวดวงจันทร์ของดาวพฤหัสฯ
(ภาพจากองค์การนาซา : ภาพถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ของนาซา บริเวณภูมิภาคกำเนิดดาวฤกษ์เอ็นจีซี 3324 ในกลุ่มเนบิวลากระดูกงูเรือ ที่ศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดของนาซา เมืองกรีนเบลท์ รัฐแมริแลนด์ของสหรัฐฯ วันที่ 12 ก.ค. 2022)
ลอสแอนเจลิส, 1 พ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (31 ต.ค.) องค์การนาซา (NASA) เปิดเผยว่ายานอวกาศภารกิจจูโน (Juno) ตรวจพบเกลือแร่และสารประกอบอินทรีย์บนพื้นผิวดวงจันทร์แกนีมีด (Ganymede) ของดาวพฤหัสบดีได้เป็นครั้งแรก
นาซาระบุว่าการค้นพบครั้งนี้บ่งชี้ว่าน้ำเค็มใต้ดินในมหาสมุทรกำลังแผ่คลุมถึงเปลือกแข็งของดวงจันทร์เยือกแข็งดวงนี้
ข้อมูลการค้นพบครั้งนี้ถูกรวบรวมโดยเครื่องมือสเปกโทรมิเตอร์ ที่มีชื่อว่าโจเวียน อินฟราเรด ออโรรัล แมปเปอร์ (Jovian InfraRed Auroral Mapper) หรือ จิแรม (JIRAM) ซึ่งติดตั้งอยู่บนยานอวกาศฯ ระหว่างบินผ่านดวงจันทร์เยือกแข็งในระยะใกล้
อนึ่ง ดวงจันทร์แกนีมีดมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธ เป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดีและได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ซ่อนตัวอยู่ใต้เปลือกน้ำแข็ง
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2021 ยานอวกาศจูโนได้บินเหนือดวงจันทร์แกนีมีดด้วยระดับความสูงขั้นต่ำ 1,046 กิโลเมตร ซึ่งไม่นานหลังจากเข้าถึงได้ระยะใกล้ที่สุด อุปกรณ์บนจิแรมสามารถเก็บภาพถ่ายอินฟราเรดและอินฟราเรดสเปกทรา (infrared spectra) ของพื้นผิวดวงจันทร์แกนีมีด
ทั้งนี้ ข้อมูลของดวงจันทร์แกนีมีดที่ได้รับจากจีแรมระหว่างบินโฉบผ่าน บรรลุความละเอียดเชิงพื้นที่ด้วยเทคนิคอินฟราเรด สเปกโทรสโกปี (infrared spectroscopy) อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำภารกิจจูโนสามารถตรวจจับและวิเคราะห์คุณลักษณะเฉพาะทางสเปกตรัมของวัสดุที่ไม่ใช่น้ำแข็งอันเกิดจากการก่อตัวของน้ำได้ อาทิ โซเดียมคลอไรด์ไฮเดรต แอมโมเนียมคลอไรด์ โซเดียมไบคาร์บอเนต และอาจรวมถึงอะลิฟาติก แอลดีไฮเดส