รีเซต

คิด เห็น share : หมดเวลาใช้น้ำมันถูก

คิด เห็น share : หมดเวลาใช้น้ำมันถูก
มติชน
21 พฤศจิกายน 2563 ( 13:08 )
592

สําหรับคอลัมน์ “คิด เห็น แชร์” วันนี้ ผมจะขอหยิบยกบทวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี ของฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) และไต้หวัน ที่มีมุมมองคล้ายกันคือ ความต้องการใช้พลังงาน และวัตถุดิบปิโตรเคมีบางกลุ่มจะเริ่มฟื้นตัว หลังจากที่โลกของเรากำลังจะมีวัคซีนโควิด-19 เร็วๆ นี้

 

จากข้อมูล อุปสงค์-อุปทานน้ำมันของโลก โดยสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (U.S.Energy Information Administration-EIA) ล่าสุดที่คาดว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นราว 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากที่ในปีนี้ลดลงไปราว 8.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯประเมินว่าจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 นี้ จะทำให้ค่าการกลั่นปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2564 หลังจากที่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้ โรงกลั่นหลายแห่งประสบผลขาดทุน จากค่าการกลั่นที่ต่ำมาก จนต้องปิดโรงกลั่นไปหลายแห่ง, ปริมาณน้ำมันอากาศยาน (หรือ Jet fuel) ที่เป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ แต่ไม่มีการนำไปใช้เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่ต้องหยุดการเดินทาง

 

ดังนั้น หากพิจารณาในมุมของความต้องการใช้พลังงานที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ ภายหลังการปลดล็อกการเดินทางของประชากรโลก และหากกำหนดให้สมมติฐานด้านอุปทานยังคงไว้ตามเดิม คือผู้ผลิตน้ำมันรายหลักๆ ของโลกยังพร้อมใจกันลดกำลังการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผู้ผลิตน้ำมันที่ในปัจจุบันยังพร้อมใจกันลดกำลังการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความต้องการใช้จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญ เพราะหากเมื่อไหร่ก็ตามที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกตัดสินใจที่จะเพิ่มกำลังการผลิต หรือมีผู้ผลิตบางรายที่ไม่ผลิตน้ำมันในปริมาณตามข้อตกลง ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันไม่ปรับขึ้นจากปัจจุบันได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี สำหรับความต้องการใช้ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า ผมประเมินว่าในปี 2564 เราคงไม่มีโอกาสได้ใช้น้ำมันราคาถูกแบบในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาแล้วก็เป็นได้

 

สำหรับประเด็นเรื่องวัตถุดิบพลาสติกสำหรับการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ อาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผู้อ่านบางท่าน แต่เป็นข้อมูลที่น่าสนใจที่ฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ไต้หวัน) ทำการวิเคราะห์ไว้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการตัดสินใจลงทุนในหุ้นกลุ่มปิโตรเคมี และเป็นประโยชน์กับผู้อ่านที่เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในการเตรียมรับมือกับแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกสำหรับการผลิต โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา วิถีชีวิตใหม่ของผู้คนในรูปแบบ Work-from-home ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบสำหรับการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ภาคการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม กลับลดลงมาก ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯประเมินว่า ความต้องการใช้สินค้ากลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และเส้นใยจะเร่งตัวขึ้นรองรับการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติของประชากรโลก ดังนั้น ต้นทุนวัตถุดิบปิโตรเคมีที่เกี่ยวข้องการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิ Benzene-SM-ABS, Propylene-PP, Phenol-Acetone-PC, และ Caustic soda รวมั้งปิโตรเคมีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเส้นใย อาทิ PX-PTA, Ethylene-MEG, และ Benzene-anone-CPL-nylon 6 มีโอกาสที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีนี้-ต้นปีหน้า

 

กลับมาที่ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ปัจจัยทั้ง 3 ที่ผมเคยประเมินไว้ในบทความก่อนหน้านี้ ว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี 2563 ได้แก่ 1) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2) สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในมุมการแพร่ระบาด และในด้านของการทดสอบวัคซีนฯ และ 3) การรายงานผล Stress test ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่จะนำไปสู่การอนุมัติจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นล้วนแต่เป็นไปในทิศทางที่เป็นบวกทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องของความคืบหน้าของวัคซีนโควิด-19 จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นเม็ดเงิน Fund flow จากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่ปลดล็อกทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นได้

 

และจากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มต้นการซื้อสุทธิในปริมาณมากแบบมีนัยสำคัญ เช่นในวันที่ 10 พ.ย. (ข่าวการรายงานผลทดสอบวัคซีนฯ ของบริษัท Pfizer) ที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มต้นซื้อสุทธิหุ้นในตลาดหุ้นไทยไปราว 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เม็ดเงิน Fund flow จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 30-60 วันทำการ ประกอบกับความคาดหวังเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า (ฝ่ายวิจัยฯคาด GDP ไทยปี 2564 ฟื้นตัว +6.8%)

 

อย่างไรก็ดี สำหรับในช่วงรอยต่อ ระหว่างรอการอนุมัติการใช้วัคซีนฯโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ (United States Food and Drug Administration: FDA) ความกังวลเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐและยุโรปอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นโลกได้ แต่อาจถือเป็นโอกาสช้อนซื้อหุ้น สำหรับนักลงทุนที่ “ตกรถ” ในรอบที่ผ่านมา

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง