คิดเห็นแชร์ : ปรากฏการณ์ ลานิญา (La Nina) กำลังก่อตัว
สําหรับคอลัมน์ “คิด เห็น แชร์” วันนี้ ผมจะขอเขียนถึงเรื่องปรากฏการณ์ “ลานิญา” ที่มีโอกาสจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งด้านบวกและลบ ประเทศไทยตลอดปีที่ผ่านมาประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากโชคร้ายที่ฤดูฝนเมื่อปี 2562 ฝนตกแต่ไม่เข้าพื้นที่กักเก็บน้ำสำคัญๆ ของประเทศไทย ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ หลายแห่งอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี สภาพอากาศของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานิญา ภายในช่วงเดือนตุลาคมนี้ อาจเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่จะสะสมน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตรในปี 2564 (ถ้าไม่โชคร้ายเกินไปเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562 คือฝนตกแต่ไม่เข้าเขื่อน)
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์เอลนิโญ-ลานิญา” ตามรากศัพท์ภาษาสเปน เอลนิโญ แปลว่า “เด็กชาย” และ ลานิญา แปลว่า “เด็กสาว” ปรากฏการณ์ที่สภาพภูมิอากาศของโลกผิดปกติสลับไปมาระหว่างเอลนิโญ-ลานิญา จึงอาจเปรียบเสมือนการละเล่นซุกซนของเด็กทั้งสอง ซึ่งอาจมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ทั้งสองโดยรวมว่า ENSO (El Niño/Southern Oscillation) ทั้งนี้ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญจึงขอไม่อธิบายถึงเหตุผลของการเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ในบทความนี้นะครับ แต่จะขออธิบายถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในรอบนี้
ปรากฏการณ์ ENSO เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบผิดปกติ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่น ฤดูแล้ง ฤดูมรสุม เป็นต้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ ปริมาณน้ำฝนในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะน้อยกว่าปกติ และจะมีสภาพอากาศที่ร้อนแห้งแล้งกว่าปกติ ขณะเดียวกันในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานิญา ปริมาณน้ำฝนในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลับมีปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และจะมีอุณหภูมิที่ลดต่ำลงกว่าปกติ เป็นต้น หากยังจำกันได้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยปี 2554 ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ลานิญาครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2553-55
จากข้อมูลการพยากรณ์โดย Climate Prediction Center ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหรัฐ และ Bureau of Meteorology ซึ่งเป็นหน่วยงานของประเทศออสเตรเลีย ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. จัดทำการพยากรณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าโอกาสสูงมากที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานิญาขึ้นในเดือน ต.ค.นี้ จนถึงต้นปีหน้า ซึ่งผลของปรากฏการณ์ลานิญาหากสรุปโดยย่อๆ คือ ประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งเรากำลังเข้าสู่ฤดูมรสุมพอดี แม้ว่าอาจจะเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภัยน้ำท่วมขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ก็อาจถือเป็นโชคดีที่จะได้เติมน้ำเข้าเขื่อนสำคัญๆ ที่ในขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆ ในภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, และภาคกลาง ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
ซึ่งหากฝนตกเข้าเขื่อนได้ทันฤดูฝน เดือนตุลาคมปีนี้ ก็อาจเป็นโชคดีของเกษตรกรไทยที่ได้ปรากฏการณ์ลานิญาเข้ามาช่วยพอดี และอาจจะสามารถกลับมาทำการเกษตรได้ตามปกติในปี 2564 แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ไม่โชคร้ายจนเกินไปนักเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562 ที่แม้จะสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นปกติ แต่ฝนตกไม่เข้าเขื่อน
อย่างไรก็ดี ดังที่ผมได้อธิบายไปข้างต้น ผลของปรากฏการณ์ลานิญาจะเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ดังนั้นผลที่จะตามมาคือ ภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ จะมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ จะมีอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งมากกว่าปกติ และผลดังกล่าวเริ่มสะท้อนมายังราคาสินค้าเกษตรบางชนิดแล้ว คือ ราคาถั่วเหลืองและข้าวโพดที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของ สหรัฐและประเทศในอเมริกาใต้ ปรับตัวขึ้นอย่างมาก โดยราคาถั่วเหลืองกำลังทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 2 ปี
ขณะที่ราคาข้าวโพดกำลังปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญคือ สินค้าเกษตรทั้ง 2 นั้น ประเทศไทยนำเข้าในฐานะของวัตถุดิบอาหารสัตว์ ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จึงอาจต้องเตรียมแผนรองรับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่กำลังปรับตัวขึ้น
นอกจากนี้ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันก็เริ่มที่จะปรับตัวขึ้นแล้วเช่นกัน สะท้อนความกังวลที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมจากปริมาณน้ำฝนที่อาจมากกว่าเกณฑ์ปกติ ดังนั้นเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐจึงต้องเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่มีความเสี่ยงจะเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ลานิญาครั้งนี้