คิดเห็นแชร์ : ค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะ ‘Fund flow’ ที่แรงกว่าคาด
บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจะขอเขียนถึงเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยล่าสุดแข็งค่าขึ้นแล้วราว 3.3% จากสิ้นปี 2564 (หรือ YTD) โดยขณะที่ผมเขียนบทความฉบับนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ราว 32.1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ที่เคยประเมินไว้ว่าการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในปี 2565 ขณะที่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยต่อในปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลกลับสหรัฐ และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงิน
ดอลลาร์สหรัฐ
ผมประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติอาจพิจารณาว่า “เงินบาท” เป็นแหล่งพักเงินลงทุนที่ดีสำหรับตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากการคาดหวังถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังเร่งตัวขึ้น แต่ผลจากการที่ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และโดยปกติแล้วประเทศไทยเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการที่ภาครัฐเตรียมที่จะทำการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้ง น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่นักลงทุนในตลาดการเงินเล็งเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ดีในปี 2565 จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาพักที่ “เงินบาท” มากขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดจากเม็ดเงินต่างชาติที่เข้าซื้อหุ้นสุทธิในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวมสูงถึง 2,163.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ YTD ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์ มีเม็ดเงินต่างชาติเข้าซื้อหุ้นสุทธิราว 1,282.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 47.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกันอยู่มากพอสมควร
การที่นักลงทุนต่างชาติเข้าเก็งกำไรในค่าเงินบาท และการเข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ต้นปีในปริมาณที่มากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าคาดว่าน่าจะเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อความคาดหวังถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินของไทยยังคงมีอยู่ในเดือนมีนาคม 2565 ก็คือ การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ครั้งแรกตั้งแต่ที่เริ่มใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่านักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจะรับรู้ข้อมูลนี้แล้ว และน่าจะซึมซับไปในตลาดการเงินพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ผมยังประเมินว่าโอกาสที่จะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ยังคงมีอยู่ ขณะเดียวกัน Valuation ของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันที่ไม่ถูกมากนัก แม้ผมจะทำการประเมินด้วยหลายๆ วิธีแล้วก็ตาม อาทิ Cyclical Adjusted PE: CAPE (หรือ PE ของตลาดหุ้นที่ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อและตัดผลของวัฏจักรย้อนหลัง 10 ปี ออกไปแล้ว) ปัจจุบันสูงราว 21 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ราว 14 เท่า และระดับ CAPE ที่เคยสูงสุดใน
อดีตอยู่ที่ ราว 26 เท่า และเมื่อเราพิจารณาเพิ่มในอีกมิติด้วยการเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ย หรือโดยปกติจะเรียกว่า Earnings yield gap แต่ในกรณีนี้หากเราใช้ Earnings yield ที่คำนวณจาก CAPE จะเรียกว่า Excess CAPE Yield: ECY ซึ่งค่า ECY ปัจจุบันต่ำเพียง 2.7% ต่ำกว่าค่า ECY ของตลาดสหรัฐที่ระดับ 2.89% (อ้างอิงการคำนวณจาก
http://www.econ.yale.edu/~shiller/data.htm) หากพิจารณาในมุมมอง Earnings yield gap ธรรมดาบ้าง จะพบว่า Earnings yield gap ล่าสุดต่ำเพียง 3.3% ขณะที่ค่าเฉลี่ยในอดีตอยู่ที่ราว 4.1% (ผมคำนวณ Earnings yield gap อิง ประมาณการ EPS ปีนี้ Bloomberg consensus ที่ 94 บาท/หุ้น และอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปัจจุบันที่ 2.2%) จะเห็นว่า Valuation ของตลาดหุ้นไทยแม้จะยังพอมี Upside อยู่บ้าง แต่ไม่ได้สูงมากนัก เราอาจจะไม่สามารถคาดหวังเม็ดเงิน Fund flow จากต่างชาติที่จะเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นได้อีกมากนัก ดังนั้น แนวโน้มค่าเงินบาทอาจจะยังมีการแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้อีก แต่ Upside คาดว่าจะมีอีกไม่มากเช่นกัน
โดยสรุป สำหรับมุมมองด้านการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย อาจพิจารณาขายทำกำไรหุ้นบางส่วน ลดพอร์ตเพื่อเก็บเงินสด รอรับมือความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นใน 1-2 เดือนข้างหน้า
สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย)