รีเซต

“โรคแพนิค คืออะไร” รู้จักโรคตื่นตระหนก วิตกกังวล ส่งผลให้ไม่กล้าออกจากบ้านได้

“โรคแพนิค คืออะไร” รู้จักโรคตื่นตระหนก วิตกกังวล ส่งผลให้ไม่กล้าออกจากบ้านได้
Ingonn
14 ตุลาคม 2564 ( 13:24 )
825

หลังจากที่ "หนุ่ม กรรชัย" ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ครั้งหนึ่งไม่กล้าออกจากบ้านนานถึง 1 ปี เพราะเป็น “โรคแพนิค” และเกือบเข้าข่าย “โรคซึมเศร้า” เนื่องจากความเครียดในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ “โรคแพนิค” กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง และมีบทบาทมากขึ้นในยุคที่มีเชื้อโควิดแพร่ระบาด และการเสพข่าวสารจนเกิดความเครียด วิตกกังวล

 

วันนี้ TrueID จะพาทุกคนมารู้จัก “โรคแพนิค” ว่าคือโรคอะไร ถือเป็นโรคจิตเภทไหม มีวิธีการรักษา ดูแลตัวเอง หรือสังเกต “อาการแพนิค” อย่างไรบ้าง

 


โรคแพนิค หรือ Panic Disorder คืออะไร

โรคแพนิก (Panic disorder) หรือโรคตื่นตระหนกเป็นโรควิตกกังวลที่มีอาการตกใจกลัวอย่างกะทันหันและรุนแรง ทั้งที่ไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่อันตราย สามารถพบได้ถึงร้อยละ 3 – 5 ในประชากรทั่วไป 

 

คนส่วนใหญ่จะเคยมีอาการแพนิกหนึ่งหรือสองครั้งในชีวิต ซึ่งความถี่ในการเกิดอาการแพนิกอาจแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่มีอาการหลาย ๆ ครั้งต่อวันไปจนกระทั่งมีอาการเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี

 

ผู้ป่วย “โรคแพนิค” จะรู้สึกทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิตประจำวันเนื่องจากมีความวิตกกังวลตลอดเวลาว่าจะมีอาการเกิดขึ้นอีกเมื่อไร บางรายต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือการงานที่เคยทำประจำ หรือกระทั่งไม่กล้าออกจากบ้านเลยทีเดียว

 


เช็กอาการโรคแพนิค

  • ใจสั่น ใจเต้นแรง หรือใจเต้นเร็วมาก
  • เหงื่อแตก
  • ตัวสั่น มือเท้าสั่น
  • หายใจไม่อิ่ม หรือ หายใจขัด
  • รู้สึกอึดอัด หรือแน่นอยู่ข้างใน
  • เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
  • คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน
  • วิงเวียน โคลงเคลง มึนตื้อ หรือเป็นลม
  • ครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ร้อนวูบวาบ เหมือนจะเป็นไข้
  • รู้สึกชา หรือรู้สึกซ่า ๆ (paresthesia)
  • รู้สึกเหมือนสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป (derealization หรือ depersonalization)
  • กลัวคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวเป็นบ้า
  • กลัวว่าตนเองกำลังจะตาย

 

ผู้ที่มี “อาการแพนิค” มากกว่า 4 ข้อ ขึ้นไป จะมีอาการที่เรียกว่า “panic attack” เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างคาดการณ์ไม่ได้ และมีอาการอื่น ๆ ต่อเนื่อง เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน (หรือมากกว่า) เช่น กังวลว่าอาจเกิดโรคร้ายแรงหรือกังวลเกี่ยวกับผลติดตามมา (เช่น คุมตัวเองไม่ได้ เป็นโรคหัวใจ เป็นบ้า เป็นต้น)

 

รวมถึงพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เช่น ไม่กล้าอยู่คนเดียว เพราะกลัวจะเกิดอาการขึ้น หรือไม่กล้าใช้ชีวิตประจำวันตามปกติที่เคยทำเป็นประจำ

 

สาเหตุของโรคแพนิค

ทางร่างกาย

  • อาจเกิดจากสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่เรียกว่า  “อะมิกดาลา” ทำงานผิดปกติ ดังนั้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรม ความคิดที่ผิดปกติ และต่อเนื่องไปถึงการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย
  • กรรมพันธุ์ คนที่มีญาติเป็นโรคแพนิค มีแนวโน้มจะเป็นได้มากกว่าคนที่ไม่มีกรรมพันธุ์
  • การใช้สารเสพติด  จะไปทำให้สมองทำงานผิดปกติ หรือสารเคมีในสมองเสียสมดุล
  • ฮอร์โมนที่ผิดปกติก็อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้

 

ทางจิตใจ

  •  ภาวะความเครียด ความวิตกกังวล
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นตัวกระตุ้น  เช่น การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออยู่กับมือถือเป็นเวลานาน พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย หรือต้องเผชิญกับสภาวะกดดัน เป็นต้น
  • ผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง  เช่น  การสูญเสีย  ผิดหวังรุนแรง ถูกทอดทิ้ง  ถูกทำร้ายร่างกาย  ถูกข่มขืน  เป็นต้น

 

ยารักษาโรคแพนิค


1. ยาที่ออกฤทธิ์เร็ว เมื่อเกิดอาการขึ้นมา ให้รีบกินแล้วอาการจะหายทันที  เป็นยาที่รู้จักกันในชื่อ “ยากล่อมประสาท” หรือ “ยาคลายกังวล”  ยาประเภทนี้ ถ้ากินติดต่อกันนานๆ จะเกิดการติดยาและเลิกยาก 

 

2. ยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น  จะต้องกินต่อเนื่อง  2-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล สามารถป้องกันโรคได้ในระยะยาว เพราะยาจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง  ยากลุ่มนี้จะเป็น “ยารักษาโรคซึมเศร้า”  แต่จะไม่ทำให้เกิดการติดยาและสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคหาย 

 

วิธีจัดการตัวเบื้องต้น เมื่อ "กำลังแพนิค"


1.หายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ 2 – 3 ลมหายใจ ปล่อยให้อาการต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างที่เป็น โดยไม่หลงเข้าไปในความรู้สึก ความคิดที่วุ่นวาย


2.ตั้งสติ ยอมรับความรู้สึกหรืออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างใจเย็น


3.จินตนาการว่าตนกำลังลอยตัวอยู่เหนืออาการต่าง ๆ เสมือนท่อนไม้ที่ลอยอยู่บนน้ำแต่ไม่จมน้ำ


4.สังเกตอาการ พยายามทำให้อาการรุนแรงขึ้นอย่างรู้สึกตัวและไม่กลัว หายใจตามปกติขณะพยามจะเพิ่มความรุนแรงของอาการต่าง ๆ และจะพบว่าไม่สามารถทำได้ เพราะสิ่งที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ก็คือ "ความกลัว" เท่านั้น


5.รอคอยจนรู้สึกผ่อนคลายและอาการต่างๆหายไป


6.ฝึกสมาธิและฝึกมองโลกในแง่บวก

 


แต่วิธีการรักษา “โรคแพนิค” ได้ดีที่สุด อยู่ที่ตัวเราเอง นั่นก็คือ เมื่อเกิดอาการแพนิคขึ้น ต้องเผชิญหน้ากับอาการเหล่านั้น ตั้งสติ และรู้เท่าทันอาการแพนิคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่พยายามหลีกเลี่ยง หรือปรับตัวไม่ให้เกิดอาการแพนิค เพราะสิ่งที่ทำให้อาการรุนแรง และกระตุ้นให้เกิดขึ้น มีเพียงแค่ความกลัวในใจเท่านั้น

 

นอกจากนั้นคนใกล้ชิด หรือครอบครัวต้องหมั่นให้กำลังใจ และเข้าใจอาการแพนิคที่เกิดขึ้น ไม่มองว่าเป็นเรื่องโกหก เรื่องตลก สุดท้ายอาการก็จะค่อยๆลดลงและหายดีในที่สุดเอง

 

 


ข้อมูลจาก ผศ.พญ.สุทธิพร   เจณณวาสิน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล , กลุ่มงานพัฒนาวิการและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ , โรงพยาบาลพระราม 9

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง