รีเซต

สตาร์ตอัพไทยรอเลย!! ดีพร้อม-เดลต้า ให้เงินสร้างธุรกิจ เดินหน้ากองทุนนางฟ้าปีที่ 7

สตาร์ตอัพไทยรอเลย!! ดีพร้อม-เดลต้า ให้เงินสร้างธุรกิจ เดินหน้ากองทุนนางฟ้าปีที่ 7
มติชน
22 กุมภาพันธ์ 2565 ( 06:13 )
38

สตาร์ตอัพไทยรอเลย!! ดีพร้อม ผนึก เดลต้า เดินหน้ากองทุนนางฟ้าปีที่ 7 ให้เงินสร้างธุรกิจ เปิดชื่อ 3 บริษัทยักษ์ร่วมหนุน

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ผนึกกำลัง บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท ฮับบา จำกัด และบริษัท มีเดียแท็งค์ จำกัด เดินหน้าติดปีกสตาร์ทอัพไทย ผ่านโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่อย่างดีพร้อม หรือ Delta X DIProm Angel Fund ปีที่ 7 พร้อมเปิดกิจกรรมบ่มเพาะทักษะทางธุรกิจอย่างเข้มข้น (Business camp) ติวเข้ม 6 ทักษะทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อภาคเอกชนผู้สนับสนุนเงินทุนให้สามารถต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ได้ พร้อมเร่งขับเคลื่อนนโยบายอัดฉีดเงินสู่ภาคอุตสาหกรรม สร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมโดยการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่และพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและให้สามารถนำทักษะองค์ความรู้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์ความต้องการในทุกมิติและสอดรับกับบริบททั้งในชิงเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้สอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของดีพร้อมในปี 2565 ภายใต้ นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อมแคร์

 

ซึ่ง 2 ใน 4 ด้านหลักที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ คือ 1. ด้านการพัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ภายใต้สถานการณ์ทุกการเปลี่ยนแปลง(Reformation) โดยการปฏิรูปกลไกการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุค New Normal และ 2. ด้านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านทั้งภาครัฐและเอกชน (Engagement) มาช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการใหม่ให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้นโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและเติมเต็มการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

ที่ผ่านมา ดีพร้อม มีการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพไทย ซึ่งได้ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ โครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (Angel Fund) ตั้งแต่ปี 2559 – ปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนทุนให้เปล่าแก่สตาร์ทอัพไปแล้วจำนวน 183 ทีม และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงถึง 650 ล้านบาท

 

และในปี 2565 ดีพร้อม ยังคงเดินหน้าร่วมมือกับบริษัท เดลต้าฯ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ผ่านโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่อย่างดีพร้อม หรือ Delta X DIProm Angel Fund โดยมุ่งเป้าพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพ ให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยการใช้นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ในอุตสาหกรรม และเพื่อให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ มีศักยภาพและความพร้อมสำหรับการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อบริษัทเอกชนผู้ให้ทุนสนับสนุนนั้น ดีพร้อม จึงได้จัดกิจกรรม “บ่มเพาะทักษะทางธุรกิจอย่างเข้มข้น” (Business camp) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเสนอแผนธุรกิจที่สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้น

 

โดยกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยพัฒนาและสร้าง 6 ทักษะทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่แหล่งเงินทุนคุณภาพ ประกอบด้วย ทักษะการวางองค์ประกอบและโมเดลธุรกิจ ทักษะการออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ทักษะการออกแบบการสร้างรายได้แบบต่าง ๆ ทักษะวิเคราะห์ การวางแผนด้านการเงิน การทดสอบตลาด และทักษะการสื่อสารและการนำเสนอผลงานเพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมลงทุน

 

กระบวนการบ่มเพาะใช้เวลาจำนวน 7 วัน ในรูปแบบ Hybrid (Online and Onsite) และการฝึกทักษะการแก้โจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรม Hackathon อีกจำนวน 3 วัน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และบริษัท ฮับบา จำกัด ร่วมเป็นที่ปรึกษาในการช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพก่อนการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งทุนในกิจกรรม Pitching Day ยิ่งไปกว่านั้น ได้มีความร่วมมือกับ บริษัท มีเดียแท็งค์ เพื่อส่งต่อสตาร์ทอัพเข้าร่วมรายการให้สามารถสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงไปสู่นักลงทุนรายอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

ด้าน นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเดลต้าฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อมในการดำเนินธุรกิจเชิง CSR โดยการคืนกลับสู่สังคมในรูปแบบการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับสตาร์ทอัพไทยผ่านโครงการ Delta Angle Fund โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เดลต้าฯ ได้ให้การสนับสนุนแก่สตาร์ทอัพ จำนวน 183 ทีม ให้การสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าไปแล้วกว่า 19.16 ล้านบาท และบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าให้ความร่วมมือกับทางกรมฯ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยในปีนี้ทางบริษัทฯ ทุ่มเงินจำนวน 4 ล้านบาท เพื่อให้การสนับสนุนเงินให้เปล่าแก่สตาร์อัพไทยที่มีแนวคิด หรือสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ได้

 

ทั้งนี้ ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนกับสตาร์ทอัพ คิดว่าโจทย์ใหญ่ของสตาร์ทอัพไทยในปีนี้ คือ การเร่งคิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาของโลกในบริบทต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง หรือ Climate change ซึ่งมีผลกระทบต่อพวกเราทุกคน หรือจากสถานการณ์ปัจจุบันที่พวกเราต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพวกเราดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเรามีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จและได้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการฯ ได้ใช้เทคโนโลยี AI และ IoT เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในอาคาร มีการพัฒนาซอร์ฟแวร์สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสะอาด รวมถึงใช้เทคโนโลยีเพื่อทําให้การศึกษาสามารถเข้าถึงได้สําหรับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลาอีกด้วย

 

กองทุนฯ กําลังเติบโตขึ้น โดยในปีนี้ได้มีพันธมิตรใหม่อย่าง SCG, Hubba และ Shark tank มาเสริมความแข็งแกร่ง จึงอยากจะกระตุ้นให้สตาร์ทอัพทุกคนใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้เพื่อเรียนรู้จากผู้นำธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยและสร้างความมั่นใจ โดยการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ และตระหนักว่าชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า ซึ่งหวังว่าทุกคนจะสนุกกับความท้าทายในเหล่านี้ พร้อมกับนำความคิดไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจไปสู่อีกระดับต่อไป

 

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปสิ่งที่ดีพร้อมจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพเพิ่มเติม คือ แนวทางการสร้างระบบนิเวศผ่าน Sandbox หรือสถานที่บ่มเพาะเหล่าสตาร์ทอัพ โดยใช้ทั้งหน่วยงานภายในดีพร้อมและธุรกิจเครือข่าย เปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสทดลองหรือจัดตั้งธุรกิจจริง สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทั้งระบบออนไลน์ ออฟไลน์ พร้อมสำรวจปัญหาของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเฟ้นหาโซลูชันจากสตาร์ทอัพเข้าไปช่วยยกระดับการดำเนินงานให้ดีขึ้น และพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้ ผ่านการดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นอย่างดีพร้อม หรือ DIProm Startup Connect ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง