รีเซต

สตาร์ตอัพหุ่นยนต์ทำพิซซาไปไม่รอด ! แม้ได้ทุนเกือบ 500 ล้านดอลลาห์

สตาร์ตอัพหุ่นยนต์ทำพิซซาไปไม่รอด ! แม้ได้ทุนเกือบ 500 ล้านดอลลาห์
TNN ช่อง16
9 มิถุนายน 2566 ( 14:30 )
50
สตาร์ตอัพหุ่นยนต์ทำพิซซาไปไม่รอด ! แม้ได้ทุนเกือบ 500 ล้านดอลลาห์

ซูม (Zume) บริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์ทำพิซซ่า ประกาศยื่นละละลาย หลังจากปัญหาทางการเงินและปัญหาทางเทคนิคในการอบพิซซา ส่วนบริษัทซอฟต์แบงก์ ผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักเช่นเดียวกัน


ซูม เป็นบริษัทสตาร์ตอัพก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 2015 มีจุดเด่นคือใช้หุ่นยนต์ช่วยในกระบวนการผลิตพิซซาแทบทั้งหมด และใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่เป็นทั้งครัวเคลื่อนที่ และรถส่งพิซซาในคันเดียว นอกจากนี้ ซูมยังใช้ระบบที่ทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Machine learning) คำนวณว่าลูกค้าจะสั่งพิซซาหน้าอะไรบ้างในแต่ละวัน เพื่อเตรียมวัตถุดิบล่วงหน้าและลดเวลาการอบพิซซาให้น้อยที่สุด



โดยหุ่นยนต์ที่ซูมใช้อบพิซซานั้น เป็นหุ่นยนต์ประเภทแขนหุ่นยนต์ หรือ Robotic arm ซึ่งสามารถทำพิซซาได้แทบทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการแผ่แป้ง ทาซอส นำเข้าเตาอบ ยกเว้นบางขั้นตอนที่มีความซับซ้อนจะยังอาศัยมนุษย์อยู่ เช่น การโรยหน้าพิซซา และขั้นตอนการจัดส่ง เมื่อลูกค้าสั่งพิซซา ระบบคอมพิวเตอร์จะคำนวณระยะทางและเวลาในการจัดส่ง จากนั้นหุ่นยนต์ในรถเริ่มทำพิซซา และส่งพิซซ่าอบใหม่ร้อน ๆ จากเตาส่งถึงมือลูกค้าได้ภายในไม่กี่นาที


เคยเป็น 'ยูนิคอร์น' มาก่อน

ในอดีต ซูมเคยเป็นสตาร์ตอัพที่มีสถานะยูนิคอร์น หรือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทรวมมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ (ราว 31,000 ล้านบาท) โดยมีผู้ลงทุนใหญ่คือ ซอฟต์แบงก์ (Softbank) บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของกองทุนวิชันฟันด์ (Vision Fund) ซึ่งเน้นลงทุนในกิจการสตาร์ตอัพ โดยในปีค.ศ. 2018 ซอฟต์แบงก์ร่วมลงทุนกับซูมมากถึง 375 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 13,000 ล้านบาทเลยทีเดียว


ซูมไปไม่รอดหลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน

ที่ผ่านมา ซูมเผชิญกับปัญหาทางเทคนิคในการผลิตมากมาย เช่น ชีสที่ละลายแล้วบนหน้าพิซซาไหลไปมาขณะรถเคลื่อนที่ ทำให้บริษัทยกเลิกระบบครัวเคลื่อนที่ เปลี่ยนมาจอดรถบรรทุกอยู่กับที่ และจัดส่งพิซซาด้วยบริการเดลิเวอรีตามปกติ ก็ยังประสบปัญหาด้านรสชาติอยู่ดี เพราะเพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าแป้งพิซซา 'แห้งเหมือนกินกระดาษแข็ง' ทำให้ซูมไม่สามารถที่จะดึงดูดลูกค้าได้เท่าที่ควร 


นอกจากนี้ แม้ว่าซูมจะได้รับเงินทุนราว 445 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท บริษัทกลับประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ในปีค.ศ. 2019 ซูมทำรายได้น้อยกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 34 ล้านบาท


ซ้ำร้ายบริษัทยังประสบผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ในปีค.ศ. 2020 ซูมต้องปลดพนักงานมากกว่าครึ่ง ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางทำธุรกิจจากร้านพิซซ่าเดลิเวอรี มาเน้นผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ถึงอย่างนั้นบริษัทก็ไปไม่รอดอยู่ดี จนในที่สุด ซูมประกาศยุติกิจการ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


ซูมจับปลาหลายมือเกินไป

จากบทวิเคราะห์ข้อง The Spoon สื่อด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับอาหาร ระบุว่าสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้กิจการพิซซาไม่ไปรอดนั้นเป็นเพราะ ซูมลงทุนกับเทคโนโลยีด้านการผลิตและหุ่นยนต์มากเกินไป จนละเลยเรื่องรสชาติและคุณภาพของตัวพิซซา ซึ่งเป็นจุดขายหลักในธุรกิจอาหาร นอกจากนี้ ซูมพยายามทำหลายอย่างเกินไป ทั้งพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำพิซซา ระบบรถขนส่ง และธุรกิจอาหาร นั่นหมายความว่าบริษัทพยายามดำเนินการธุรกิจที่ใช้เงินทุนสูงมากถึงสามอย่างในเวลาเดียวกัน หากซูมมุ่งเน้นพัฒนาจุดเด่นไปเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ธุรกิจอาจไม่ประสบปัญหา จนต้องปิดตัวลงแบบนี้ก็ได้ 

ภาพจาก Dailymail

 

ซูมกระทบกองทุนของซอฟต์แบงก์ขาดทุนย่อยยับ

การปิดตัวลงของสตาร์ตอัพซูมไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เพราะที่ผ่านมาบริษัทส่งสัญญาณเตือนหลายอย่าง ทั้งทำรายได้ที่น้อยมากเทียบกับเงินลงทุน และปัญหาในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เป็นระยะ 


แต่เรื่องที่น่าจับตามองต่อไปคือ กองทุนวิชัน ฟันด์ ของบริษัทซอฟต์แบงก์กำลังประสบปัญหาขาดทุนสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปีค.ศ. 2023 เผยว่าบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติขาดทุนสูงถึง 4.3 ล้านล้านเยน ซึ่งหากเทียบเป็นเงินไทยแล้ว นั่นหมายความว่ากองทุนวิชัน ฟันด์สูญเงินไปมากกว่า 1 แสนล้านบาท ! 


การขาดทุนของซอฟต์แบงก์ครั้งนี้เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัญหาสงครามในยุโรป และหุ้นด้านเทคโนโลยีที่ร่วมลงทุนไม่ให้ผลตอบแทนเท่าที่ควร ซึ่งในอนาคต ซอฟต์แบงก์จะกู้สถานการณ์กลับมาได้หรือไม่คงต้องจับตามองกันต่อไป


ที่มาข้อมูลและภาพ DailymailFuturismSpoon


ข่าวที่เกี่ยวข้อง