บีโอไอเผยไตรมาสแรกยอดขอส่งเสริมลงทุนกว่า 1 แสนล้านบ. ปลดล็อกลงทุนสถานีชาร์จอีวี-สตาร์ตอัพ
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) วันนี้ว่า บอร์ดบีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน รวมมูลค่า 14,442.4 ล้านบาท ในกิจการ DATA CENTER จาก 2 บริษัท คือ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท เทเลเฮ้าส์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งมีโครงการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำยางสังเคราะห์ (SYNTHETIC LATEX) และโครงการผลิต COPPER FOIL
สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกของปี 2565 มีจำนวนโครงการรวม 378 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่ารวม 110,733 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 77,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยแหล่งที่มาของเงินทุนที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน มูลค่าลงทุน 37,076 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่าลงทุน 13,788 ล้านบาท และจีน มูลค่าลงทุน 13,361 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 78,217 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ
การลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับการส่งเสริมรวมมูลค่า 60,362 ล้านบาท โดยจังหวัดระยองมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 46,405 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 12,044 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุนรวม 1,913 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2565 คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น SUSPENSION FOR HARD DISK DRIVE, MULTILAYER PRINTED CIRCUIT BOARD, MULTILAYER CERAMIC CHIP CAPACITOR (MLCC) อุปกรณ์สื่อสารใยแก้วนำแสง และเส้นใยเทคนิค
ที่ประชุมฯได้อนุมัติปรับปรุงสิทธิประโยชน์การให้ส่งเสริมลงทุนกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า กรณีที่มีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย โดยเป็นประเภท QUICK CHARGE ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ส่วนกรณีอื่น ๆ ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินนิติบุคคล 3 ปี
รวมทั้งยกเลิกเงื่อนไขห้ามรับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานอื่น เนื่องจากการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต้องอาศัยมาตรการหลายประการควบคู่กัน และยกเลิกเงื่อนไขการต้องได้รับรองมาตรฐาน ISO 18000 และปรับเงื่อนไขเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้เพิ่มเงื่อนไขให้มีการเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มบูรณาการหรือแพลตฟอร์มส่วนกลางสำหรับบริหารจัดการเครือข่ายระบบอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเข้าด้วยกัน
“การปรับปรุงสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือธุรกิจ STARTUP สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของบีโอไอได้ง่ายขึ้นและสร้างระบบนิเวศรองรับการบริหารจัดการธุรกิจบริการอัดประจุไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต” น.ส.ดวงใจกล่าว