รีเซต

สวยได้ รักษ์โลกด้วย ! สตาร์ตอัพวิจัยเสื้อผ้าสุดเจ๋งทำจากโปรตีน

สวยได้ รักษ์โลกด้วย ! สตาร์ตอัพวิจัยเสื้อผ้าสุดเจ๋งทำจากโปรตีน
TNN ช่อง16
12 มิถุนายน 2566 ( 13:05 )
94

กว่าจะได้เสื้อผ้าสวย ๆ สักตัวมาใส่ ขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้ากลับทำร้ายโลกไปไม่น้อย โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นโลกผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทั้งมีส่วนสร้างมลพิษ ก๊าซเรือนกระจก และปล่อยสารโลหะหนักและไมโครพลาสติกปริมาณมหาศาลลงสู่แหล่งน้ำจากการใช้สีย้อมผ้าและสารเคมีอื่น ๆ ในขั้นตอนการผลิต 


ปัญหาดังกล่าวทำให้ ชิวเหลียน ลี (Chiu-lian Lee) อดีตนักเรียนจากสถาบันเทคโนโลยีแฟชั่น ตัดสินใจเข้าร่วมโปรแกรมไบโอดิไซน์ (Biodesign) ซึ่งเป็นการผสานกันระหว่างการออกแบบศิลปะและเทคโนโลยีทางชีวภาพเข้าด้วยกัน หวังจะหาหนทางใหม่ในการผลิตเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และนั่นทำให้เธอเจอกับหลอดโปรตีนสีสันสะดุดตา ซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งธุรกิจสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อสร้างวัสดุสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเวลาต่อมา



 ภาพจาก Fastcompany

 

จากห้องเรียน สู่สตาร์ตอัพเสื้อผ้ารักษ์โลก

แวร์วูล (Werewool) เป็นบริษัทสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) สัญชาติอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 2018 บริษัทแวร์วูลเน้นใช้หลักการเลียนแบบสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ หรือ Biomimicry (ไบโอมิมิคครี) เพื่อสร้างเส้นใยสิ่งทอและสีย้อมผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหลัก โดยคำว่า แวร์วูล (Werewool) มาจากการเล่นคำระหว่าง “Werewolf” (แวร์วูล์ฟ หรือมนุษย์หมาป่า) และ “Wool” (ขนสัตว์) ซึ่งทีมก่อตั้งหวังว่าในวันหนึ่งวัสดุจากธรรมชาติจะกลายร่างเป็นเส้นใยสิ่งทอ ได้เหมือนกับมนุษย์หมาป่าที่แปรงร่างเป็นได้ทั้งมนุษย์และหมาป่า


“ภารกิจของเราคือการทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นสิ่งทออยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้” ชิวเหลียน ลี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแวร์วูล กล่าว




เล่นแร่แปร ‘โปรตีน’ เป็นผ้า

แวร์วูล ร่วมมือกับสถาบันสองแห่งในสหรัฐอเมริกาอย่าง สถาบันเทคโนโลยีแฟชั่น (Fashion Institute of Technology) และ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) เพื่อศึกษาโครงสร้างโปรตีน โดยในระยะแรก แวร์วูลเริ่มจากการสร้างโปรตีนจากจุลินทรีย์ในถังปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactors) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นพัฒนาวิธีการนำโปรตีนมารวมกับเส้นใย ซึ่งทำมาจากวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ 


“เราต้องหาก่อนว่าสิ่งมีชีวิต (Organism) ไหนมีคุณสมบัติเหมาะกับผ้าทอ แล้ววิเคราะห์ว่าคุณสมบัติที่ต้องการมาจากลำดับพันธุกรรมไหน ก่อนจะออกแบบโปรตีนขึ้นใหม่” ธีแอนน์ ชีรอส (Theanne Schiros) นักวิจัยวิทยาศาสตร์ และอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแฟชั่นอธิบาย นอกจากนี้ วิธีการสร้างโปรตีนแบบนี้ยังใช้เพื่อทดแทนสารเคมีและสีย้อมผ้าที่ใช้ในการเคลือบสิ่งทอได้อีกด้วย


ต่อยอดใช้โปรตีนย้อมสีผ้า

การย้อมสีผ้าถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สร้างมลพิษปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะมลพิษทางน้ำ ทั่วไปแล้ว สีย้อมผ้าเป็นสารเคมีที่สกัดจากน้ำมันปิโตรเลียมหรือถ่านหิน หากโรงงานมักง่ายทิ้งน้ำเสียจากสีย้อมผ้าลงในแหล่งน้ำ จะเกิดผลกระทบจากสารเคมีและโลหะหนักสะสมทั้งต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำและมนุษย์


โดยระหว่างการศึกษาวิธีการนำโปรตีนมารวมกับเส้นใย ทีมทดลองก็สังเกตว่าโปรตีนในหลอดทดลองเป็นสีชมพูสะท้อนแสงสดใส (pink fluorescent) โดยโปรตีนสีชมพูนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากปะการัง แวร์วูลจึงตั้งใจนำโปรตีนดังกล่าวมาต่อยอด พัฒนาเป็นสีย้อมผ้ารักษ์โลกด้วยเช่นกัน

ภาพจาก Fastcompany

 

ระดมทุนสร้างต้นแบบเสื้อผ้ารักษ์โลก

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แวร์วูลได้เงินระดุมทนก้อนใหม่มากกว่า 3.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 120 ล้านบาทจาก แมททีเรียล อิมแพค (Material Impact) บริษัทธุรกิจเงินร่วมลงทุนด้านเทคโนโลยี และ โซฟินโนวา พาร์ทเนอร์ส (Sofinnova Partners) บริษัทธุรกิจเงินร่วมลงทุนซึ่งเน้นลงทุนเทคโนโลยีชีวภาพ


โดยบริษัทแวร์วูลระบุว่า เงินทุนก้อนนี้จะนำไปพัฒนาเส้นใยโปรตีนให้เป็นเส้นด้ายและสีย้อมผ้าสีชมพู ก่อนจะนำมาผลิตเป็นต้นแบบจำลองชุดแรก “เราตั้งใจออกตัวต้นแบบนำร่องให้ได้ภายใน 12 เดือน เส้นใยสีชมพูพวกนี้จะกลายเป็นกางเกงโยคะสีชมพูที่ย่อยสลายได้ให้คุณใส่” ลีอธิบาย


ขณะนี้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทแวร์วูลยังอยู่ในขั้นตอนทดลอง ยังไม่ได้จำหน่ายในท้องตลาดแต่อย่างใด แต่อนาคต เราอาจจะได้ใส่ชุดออกกำลังกายและเสื้อผ้าจากโปรตีนแทนใยสังเคราะห์ก็เป็นได้


ที่มาข้อมูลและภาพ Fastcompany, Just-style, Werewool

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง