รีเซต

นักวิทย์ระบุดาวฤกษ์ 7 ดวง เข้าข่ายโลกต่างดาวตามทฤษฎี 'Dyson spheres'

นักวิทย์ระบุดาวฤกษ์ 7 ดวง เข้าข่ายโลกต่างดาวตามทฤษฎี 'Dyson spheres'
TNN ช่อง16
24 มิถุนายน 2567 ( 09:57 )
38

การค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิต่างดาวเป็นสิ่งที่มนุษย์หลงไหลมานานนับร้อยปี โดยทั่วไปมักมุ่งค้นหาสัญญาณ 3 อย่าง คือ สัญญาณวิทยุ ร่องรอยหลักฐานบนดาวในระบบสุริยะ และการมองหาร่องรอยของโครงสร้างวิศวกรรมขนาดใหญ่ในอวกาศ ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ในประเทศสวีเดน สามารถระบุตำแหน่งของดาวฤกษ์ 7 ดวง ที่อาจมีลักษณะเข้าข่ายทฤษฎี 'Dyson spheres' ในบริเวณกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา


ทฤษฎี 'Dyson spheres' เป็นแนวคิดที่ถูกนำเสนอโดยนักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ ฟรีแมน ไดสัน (Freeman Dyson) ในปี 1960 เกี่ยวกับอารยธรรมที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจนสามารถก่อสร้างโครงสร้างวิศวกรรมขนาดใหญ่รอบดาวฤกษ์ เช่น ดวงอาทิตย์ เพื่อเก็บรวบรวมพลังงานจากดาวฤกษ์นั้นในปริมาณมหาศาล โดยมีเป้าหมายหลักคือเพื่อสนับสนุนความต้องการพลังงานของอารยธรรมขั้นสูงนั้น ๆ และปล่อยพลังงานความร้อนส่วนเกินออกมาในรูปของรังสีอินฟราเรด


กระบวนการค้นหาทีมวิจัยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ WISE หรือ Wide-field Infrared Survey Explorer ของนาซา และกล้องโทรทรรศน์ไกอาร์ (Gaia) ขององค์การอวกาศยุโรป รวมไปถึงข้อมูลจากโครงการ 2MASS เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์และศูนย์ประมวลผลวิเคราะห์อินฟราเรด


โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ได้คัดเลือกดาวที่อยู่ห่างจากโลกไม่เกิน 1,000 ปีแสง จำนวนกว่า 5 ล้านดวง ก่อนคัดกรองคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ไม่เข้าข่ายทฤษฎี 'Dyson spheres' ออกไปให้มากที่สุด จนกระทั่งเหลือดาวฤกษ์ 7 ดวง ที่มีการเรืองแสงอินฟราเรด ซึ่งอาจเป็นร่องรอยโครงสร้างขนาดใหญ่ของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิ


อย่างไรก็ตามทีมนักวิทยาศาสตร์ยังไม่หลักฐานที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าดาวฤกษ์ 7 ดวง เป็นอารยธรรมขั้นสูงตรงตามทฤษฎี 'Dyson spheres' และด้วยเทคโนโลยีของมนุษย์ในปัจจุบันทำได้แค่ตั้งข้อสงสัยและยากต่อการหาคำตอบ นอกจากนี้การเรืองแสงอินฟราเรดที่ตรวจพบอาจเกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติของดาวฤกษ์ดวงนั้น ๆ ก็เป็นไปได้


ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ ซึ่งนำโดยมาติอัส ซัวโซ (Matías Suazo) นักศึกษาระดับปริญญาเอกในภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala) ในประเทศสวีเดน ได้ตีพิมพ์รายงานลงในวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา


ที่มาของข้อมูล Newsnationnow, CNN, Livescience, Academic OUP, SingularityHub

ที่มาของรูปภาพ Wikimedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง