รีเซต

มองพัทยาหลัง 'ปรเมศวร์' คว้าชัย 'บ้านใหญ่-บ้านใหม่' วัดพลัง ก่อนสู้ศึกเลือกตั้งส.ส.

มองพัทยาหลัง 'ปรเมศวร์' คว้าชัย 'บ้านใหญ่-บ้านใหม่' วัดพลัง ก่อนสู้ศึกเลือกตั้งส.ส.
มติชน
26 พฤษภาคม 2565 ( 15:11 )
113
มองพัทยาหลัง 'ปรเมศวร์' คว้าชัย 'บ้านใหญ่-บ้านใหม่' วัดพลัง ก่อนสู้ศึกเลือกตั้งส.ส.

เป็นที่แน่แท้แล้วว่า นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ เบอร์ 1 กลุ่มเรารักพัทยา คว้าชัยในการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา แม้ว่า กกต.จะยังไม่ประกาศผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ และยังมีความวุ่นวาย ทั้งบัตรเลือกตั้งหาย และบัตรเขย่ง ใน 2 หน่วยเลือกตั้ง อย่างไม่สามารถระบุสาเหตุได้

 

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ได้รับคะแนนเสียง 14,349 คะแนน อันดับ 2 ได้แก่ นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร กลุ่มพัทยาร่วมใจ หมายเลข 4 ได้คะแนน 12,477 คะแนน อันดับ 3 เป็นผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า นายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย หมายเลข 3 ได้คะแนน 8,759 คะแนน และอันดับ 4 ได้แก่ นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 2 ได้คะแนนเสียง 990 คะแนน

 

ขณะที่ผู้สมัครสมาชิกเมืองพัทยาทั้ง 4 เขต ผู้สมัครกลุ่ม “เรารักพัทยา” เข้าวินแบบยกทีมในทุกเขตเลือกตั้ง

 

มองอย่างผิวเผิน ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มบ้านใหญ่ “เรารักพัทยา” ที่มีตระกูลคุณปลื้ม เป็นผู้สนับสนุน กวาดที่นั่งไปได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ในชัยชนะนั้น ย่อมมีแง่มุมน่าสนใจอยู่ไม่น้อย มติชนออนไลน์ ชวน อ.ชาลินี สนพลาย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองชลบุรี มาวิเคราะห์เจาะสนาม หลังเลือกตั้งชลบุรี

 

มองผลเลือกตั้ง “พัทยา”

อ.ชาลินี กล่าวว่า จริงๆแล้วหากดูผลคะแนน จะเห็นว่าแบ่งออกเป็น 3 ก้อน คือ 1.นายปรเมศวร์ ซึ่งทางบ้านใหญ่ ตระกูลคุณปลื้ม คุณสนธยาแสดงออกชัดว่า เป็นผู้สนับสนุน ก้อนที่ 2 คือ คุณสินธ์ไชย น้องชายนายกฯ นิรันดร์ ที่มีกลุ่มการเมืองบ้านใหม่ สนับสนุนเขา และกลุ่มที่ 3 คือ คณะก้าวหน้า ของคุณธนาธร

ถ้าดูผลการเลือกตั้งแล้ว ถือว่าชนะกันไปนิดหน่อย 2 พันคะแนนถือว่าไม่มาก แสดงว่าบ้านใหม่ คงสร้างและรักษา เครือข่าย ฐานเสียงของเขาในการทำพื้นที่ได้ดีพอสมควร ในระดับที่ขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อมากทีเดียวกับบ้านใหญ่เดิม ทางฝั่งคณะก้าวหน้าเองก็ไม่น้อย ได้มา 8,800 คะแนนถือว่าเยอะพอสมควร

มีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ New Voter ซึ่ง New Voter ของพัทยา ไม่ได้เป็น First time Voter ที่อายุถึงเกณฑ์เท่านั้น แต่เป็นคนที่เคยโหวตจากพื้นที่อื่น ที่ย้ายเข้าไปอยู่ที่พัทยา รวมๆแล้วประมาณ 8,800 ซึ่งเสียงของคณะก้าวหน้าก็ประมาณนี้ แม้จะเคลมไม่ได้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ว่า คณะก้าวหน้าเอง ก็มีวิธีการทำการเมือง หาเสียง ที่เน้นขายนโยบาย อุดมการณ์ ซึ่งวิธีการแบบนี้ อาจจะทัช จับใจกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฝังตัว หรือไม่ได้เป็นชุมชนดั้งเดิมของพัทยา

เหตุผล เบียร์ ปรเมศวร์ คว้าชัย

ก่อนเลือกตั้งเพียงไม่นาน เบียร์ ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม คาดการณ์ได้ว่าเตรียมลงแข่งชิงเก้าอี้ นายกเมืองพัทยา ก่อนจะลอยลำเข้าเส้นชัยเข้าป้ายที่ 1 แบบม้วนเดียวจบ

หากให้วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ เบียร์ เข้าวินในเกมนี้แล้วนั้น ย่อมไม่ใช่เพราะการมีบ้านใหญ่สนับสนุนเพียงอย่างเดียวแน่นอน

ในเรื่องนี้ อ.ชาลินี มองว่า ข้อได้เปรียบของปรเมศวร์ คือการที่ได้รับการสนับสนุนจากบ้านใหญ่ และการที่ไม่ใช่คนของบ้านใหญ่ แต่เป็นเพราะทำงานในพื้นที่มาตลอดเวลา เป็นคนรุ่นใหม่ที่โดดเด่น แม้จะทำงานในกระทรวงวัฒนธรรม แต่ไม่ได้ห่างจากพื้นที่เลย ตอนหลังยังอยู่เมืองพัทยากับนายสนธยา

“อย่างไรก็ตาม เวลาเลือกตั้งท้องถิ่น ตัวคน candidate ที่แสดงให้คนในพื้นที่เห็นว่า เข้าถึงได้ ติดพื้นที่ และมีเครือข่ายการทำงาน ที่สามารถโยงใยไปถึงประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม มีเครือข่ายการทำงานที่แน่นแฟ้นกับระบบราชการ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเลือกของคนอยู่”

ก่อนว่า นายปรเมศวร์เอง เป็นทายาทตระกูลการเมือง พ่อเป็นส.ส. ชลบุรี คือ นายสันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ ถ้าไปดูบุคลิกเขา และลูกกำนันเป๊าะหลายคน อาจจะยกเว้นนายสนธยา คนที่เหลือ บุคลิกมีความเป็นคนรุ่นใหม่ เข้าถึงง่ายในวงกว้าง นายปรเมศวร์เอง มีบุคลิกที่ค่อนข้างอ่อนน้อม รับฟัง เป็นเรื่องหนึ่งที่คิดว่ามีผล

มากไปกว่านั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งในกทม. และ พัทยา สมาชิกภาเมือง (ส.ม.) เป็นกลไกสำคัญในการช่วยหาเสียง เพราะมีเครือข่ายยิบย่อยไปในพื้นที่ ดูแลพื้นที่ ติดพื้นที่ยิ่งกว่าผู้สมัครเอง เพราะ นายกเมืองอาจดูแลพื้นที่กว้างกว่า แต่ สมาชิกสภาเมือง (ส.ม.) ดูแลพื้นที่เล็ก อยู่ติด ซึ่งทีมผู้สมัคร ส.ม.ของนายปรเมศวร์ มีเครือข่ายพื้นที่ดี ก็ช่วยเสริมเขาได้

เมื่อ ‘คน’ คือตัวเลือกที่เห็นชัด มาก่อน ‘นโยบาย’

“เวลาบอกว่า การทำการเมืองสมัยใหม่ ต้องขายนโยบาย มากกว่าเครือข่ายบุคคล ต้องไม่ลืมว่าวิธีการพูดแบบนี้ เป็นการพูดจากเลนส์ของชนชั้นกลางในเมือง” อ.ชาลินี กล่าว ก่อนขยายความว่า คนชั้นกลางในเมือง มีวิธีเข้าถึง ส่งเสียงไปยังหูของผู้ใช้อำนาจรัฐได้หลายวิธี มีอำนาจต่อรองทางการเมืองที่สูงกว่า แต่ในต่างจังหวัด กระทั่งพัทยาที่มีความเป็นเมืองมาก ก็ยังอยู่นอกความสนใจอยู่ดี

ถ้าพูดว่านโยบายสำคัญ ก็สำคัญในแง่ที่ว่า จะโปรเจกต์ไปข้างหน้า ว่าสัญญากับคนในเมืองว่าจะพาเขาไปในทิศทางไหน จะทำอะไรระยะสั้นระยะยาว แต่การไปมองที่นโยบาย เป็นอะไรที่เลื่อนลอยพอสมควร เพราะไม่มีทางรู้ว่า นโยบายจะนำไปปฏิบัติได้จริงไหม และนโยบายนั้นดีหรือไม่ดีกันแน่

“ที่รู้แน่ๆคือ คนที่นำเสนอนโยบายนั้น เป็นคนอย่างไร มีศักยภาพทำงานไหม มีผลงานในอดีตที่พิสูจน์ได้ไหม หรือมีเครือข่ายที่จะพาเสียงเขาไปถึงหูคนมีอำนาจได้ไหม เรื่องนี้สำคัญ”

ทั้งยังกล่าวต่อว่า หากย้อนไปก่อนปี 2540 นักการเมืองไม่มีใครขายนโยบายเลย มีแต่ขายผู้สมัคร แต่หลังปี 40 ก็พากันขายแต่นโยบาย แต่พอดูนโยบายแล้วไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ มันน้อยมากที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างในทางจุดยืนของตัวผู้สมัครได้

“เอาเข้าจริง ถ้าเอานโยบายมาขึงสเปกตรัมทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองก็จะคล้ายๆกัน ไม่ต่างกันมาก กลายเป็นสิ่งเหมือนๆกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้เลือกตั้งจะให้ความสำคัญกับตัวผู้สมัครซึ่งจะเป็นคนที่จะขับเคลื่อนนโยบายแทน”

“แม้จะไม่ค่อยเชี่ยวชาญเรื่องกรุงเทพฯมากนัก แต่นโยบายของผู้ว่าฯกทม. ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก คนไม่ได้เลือกเพราะเห็นว่านโยบายของนายชัชชาติ 200 กว่านโยบายมันดีกว่าคนอื่น แต่เลือกเพราะท่าทีในการบริหารจัดการ ทำงานของนายชัชชาติ มากกว่าหรือเปล่า”

 

จุดอ่อน “ก้าวหน้า” บนเวทีท้องถิ่น

อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า พื้นที่พัทยานั้น นายธนาธร ก็ลงไปเต็มตัว หมายมั่นปั้นมือจะสามารถปักหลักที่นี่ได้ จากผลการเลือกตั้งระดับชาติ แต่การเลือกตั้งระดับชาติกับท้องถิ่น มันไม่เหมือนกัน การเลือกระดับชาติคือการส่งคนเข้าไปเป็นตัวแทนในรัฐสภาที่กรุงเทพฯ แต่กับท้องถิ่น คือต้องเอาคนมาดูแลบ้าน ต้องอยู่ที่บ้าน

“ข้อเสียเปรียบของบ๊อบ หรือ นายกิตติศักดิ์ คือ เวลาที่ขึ้นรถหาเสียง ภาพคือบ๊อบยืนอยู่ มีนางสาวพรรณิการ์ และ นายธนาธร ถือไมค์อยู่ข้างๆ นึกภาพว่าหากเป็นคนพัทยา เขา 2 คนหาเสียงเสร็จก็กลับกทม. แต่นายกิตติศักดิ์ถูกเหลือทิ้งไว้ที่พัทยา เขาจะทำได้จริงไหม ทั้งเปิดตัวช้ากว่า ไม่มีเวลาให้คนพัทยาได้รู้จักนานเท่าไหร่ เวลาหาเสียงก็ถูกกลบ”

“ทำให้คนเมืองพัทยาไม่เห็นว่านายกิตติศักดิ์ มีศักยภาพจะดูแลเขาได้ไหม หลังจากที่ นายธนาธร และ นางสาวพรรณิการ์ กลับไปแล้ว ในอีกแง่หนึ่ง แม้ว่านายปรเมศวร์ จะไม่ได้ shining ขนาดนั้น แต่ภาพคือนายสนธยาไม่เคยประกบตัวเขาตลอด มันได้เห็นตัวเขา ได้เห็นบุคลิกต่างๆ เพียงแต่มีเงาอยู่ข้างหลังเท่านั้น อย่างน้อยก็มีอิสระ และได้เห็นตัวเขาชัดเจน”

มองให้ไกลกว่า แค่เลือกตั้งนายกเมืองพัทยา

หลังจากการเลือกตั้ง นายกเมืองพัทยา ที่จะมาเป็นผู้ดูแลคุณภาพชีวิตชาวพัทยา 4 ปีจากนี้ ซึ่งยังมีโจทย์ใหญ่รออยู่อีกมาก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจหลังโควิด หรือเรื่องน้ำท่วมต่างๆ แต่อ.ชาลินี มองว่า ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้สำเร็จขึ้นมา

อ.ชาลินี กล่าวว่า เมืองพัทยานั้น มีคนอยู่จริงๆหลายแสนคน เข้าใจว่า 5 แสนคน แต่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 78,000 คน คือนิดเดียวเท่านั้น แต่นายกเมืองต้องตัดสินใจทำงานที่ส่งผลต่อชะตากรรมคนมหาศาล โดยที่คนเหล่านั้นไม่มีสิทธิในการตัดสินใจทางการเมืองได้ คนกลุ่มนี้มีอำนาจในการต่อรองทางการเมืองต่ำ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ได้รับผลกระทบต่อการตัดสินใจ บริหารจัดการบ้านเมือง และเป็นกำลังขับเคลื่อนเมือง

“ถ้าอยากทำให้เมืองพัทยามันดี น่าอยู่ เราอาจต้องหาทางนับคนเหล่านี้ เข้าไปสู่กระบวนการทางการเมือง ไม่ว่าจะให้สิทธิเลือกตั้ง หรือเปิดช่องให้คนเหล่านี้ ไปมีสิทธิมีเสียงได้ ซึ่งถ้านายกฯ คนไหน หรือกลุ่มการเมืองไหน ทำได้ ก็จะซื้อใจเขาได้ กลุ่มนี้เป็นเสียงสำคัญ เพราะเขาเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเลย ที่ยังไม่มีใครไปคว้าเขาได้ อาจจะยังไม่อยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองไหนเลย” อ.ชาลินี กล่าว

“เมืองพัทยา ไม่ควรเป็นของคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่พัทยาอย่างเดียว หรือแค่นักท่องเที่ยว แต่ควรเป็นเมืองที่ดี สำหรับคนทำมาหากิน และใช้ชีวิตที่นั่น ไม่ใช่ทุกคนจะย้ายทะเบียนบ้านมาได้ แม้ว่าเขาอาจจะยังไม่นสะดวกซื้อบ้านและย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่พัทยา (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านการเงิน หรือเหตุผลอื่น เช่น ยังไม่มั่นใจว่าจปักหลักที่นี่นานแค่ไหน) แต่ว่าตลอดเวลาที่เขาอยู่ในเมืองพัทยา เขาก็จับจ่ายใช้สอย ทำงานและขับเคลื่อนเมือง”

 

โจทย์ใหญ่ เลือกตั้ง ส.ส.

พร้อมกันนี้ อ.ชาลินี ยังได้ฉายภาพการเมืองชลบุรี ที่เป็นที่น่าจับตาสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ ครั้งต่อไปว่า

“ต้องยอมรับว่า การเมืองชลบุรี เข้าสู่อีกยุคสมัยแล้ว ก่อนหน้านี้งานวิชาการมักบอกว่า ชลบุรีเป็นพื้นที่ ที่กลุ่มการเมืองเป็นขั้วเดียว แต่หลังกำนันเป๊าะ มันพ้นยุคขั้วเดียวไปแล้ว กลายเป็นหลายขั้ว ในลักษณะที่ยังไม่มีขั้วไหนที่สามารถสถาปนาอำนาจนำเบ็ดเสร็จเหนือพื้นที่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่แต่ละฝ่ายจะต้องระดมสรรพกำลัง เพื่อปักหลักในพื้นที่ให้ได้ และจัดสรรพื้นที่กันให้ได้ เป็นช่วงเวลาสำคัญ สำหรับการช่วงชิงกันอยู่”

ก่อนอธิบายว่า สมัยกำนันเป๊าะยังอยู่ วิธีการทำงานคือ ทำงานการเมืองกินรวบไม่ได้ต้องกินแบ่ง หากเราแปลงเป็นภาษาวิชาการ คือ network governance คือ กำนันเป๊าะบริหารจัดการเครือข่าย ไม่ได้ไปดูทุกจุดในเมืองชลบุรีแต่มีเครือข่ายทำงานให้ แบ่งผลประโยชน์ลงตัว แต่เมื่อไม่มีพ่อ รุ่นลูกไม่สามารถจะรับไม้ต่อบทบาทนั้นได้อย่างสมบูรณ์ จึงมีอาการที่คนที่เคยอยู่ภายใต้ร่มเดียวกัน อยากแยกตัวออกไปมีพื้นที่ มีเครือข่ายใหม่สำหรับตนเอง

เป็นที่น่าสนใจว่า บ้านใหม่ ปักหลักในชลบุรีได้เยอะ ดึงคนมารวมในขั้วเขา ดูแลพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งเลือกตั้งเทศบาลครั้งที่แล้ว เครือข่ายบ้านใหม่ก็ได้ไปหมด ในเทศบาลสำคัญๆ ในเขตอำเภอเมืองชลบุรี เหลือเพียงแสนสุข ขณะที่บ้านใหญ่ก็พยายามที่จะรักษาเครือข่าย ดูแลพื้นที่ให้ได้เหมือนเดิม

“เลือกตั้งนายกเมืองพัทยา บ้านใหม่และบ้านใหญ่ คะแนนห่างกันไม่มาก สูสี เป็นโจทย์ใหญ่มากสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าของทั้งสอง ว่าจะวางกลยุทธ์อย่างไร ซึ่งเอาเข้าจริงหากนำคะแนนทั้งสองมาบวกกัน มากกว่าคะแนนของนายอิทธิพลที่เคยชนะเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาครั้งก่อนด้วยซ้ำ”

“ดังนั้นเวลาที่เรามองไปที่การเลือกตั้งพัทยา อิงกับการเลือกตั้งระดับชาติ ที่คนเคยกังขาว่า วิธีการทำงานแบบเดิม หรือเครือข่ายการเมืองแบบเจ้าของพื้นที่มันซบเซา หรือล้มหายตายจากไป มันไม่ถึงขั้นนั้น เพราะคะแนนของ 2 ก้อนนี้ เพิ่มขึ้นกว่าเดิม” อ.ชาลินี กล่าว

เสียงของชาวท้องถิ่น

ในการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หากพูดว่าข่าวของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กลบเมืองพัทยาไปบ้าง ก็ไม่ผิดนัก

เรื่องนี้ อ.ชาลินี กล่าวว่า การเลือกตั้งสำหรับคนต่างจังหวัด ได้รับความสนใจน้อย และถูกมองในแง่ลบจากชนชั้นกลางในเมือง อย่างตอนเลือกตั้งนายกอบจ. อบต. พื้นที่ข่าวครึ่งหนึ่ง ว่าด้วยความไม่ไว้วางใจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าทุจริต เป็นที่ซ่องสุมของอิทธิพล ซื้อเสียง แต่พอเลือกตั้งกทม. มีการนำเสนอนโยบาย และโรแมนติไซซ์การเลือกตั้งทุกอย่าง ถึงกับอินอยากให้คนต่างจังหวัดได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งๆที่เขาเลือกตั้งนายกอบจ.มา 20 ปีแล้ว ละเลยข้อเท็จจริงพื้นที่ฐานที่ว่า ปัญหาไม่ใช่คนต่างจังหวัดไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารเมือง แต่ปัญหาของต่างจังหวัด คือการมีอำนาจรัฐทับซ้อนกันระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง กับอำนาจที่มาจากการแต่งตั้ง

เมื่อพื้นที่ข่าวไม่ค่อยสนใจคนต่างจังหวัด หรือกรณีเมืองพัทยา ทำให้ข่าวไม่มีคนทำข้อมูลช่วยประชาชน หรือประเด็นในพื้นที่ ว่าเขามีปัญหาอะไร เหมือนในกรุงเทพฯ มีแต่โฟกัสเรื่องบ้านใหญ่ ไม่อยากให้มองพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะชลบุรี พัทยา เต็มไปด้วยเรื่องแบบนี้ อยากให้คนเคารพการตัดสินใจของคนในแต่ละพื้นที่ ไม่อยากให้คนชนชั้นกลางในเมืองมองว่า พัทยาไม่ตัดสินใจแบบนี้ หรือไม่ใช้ชุดเหตุผลเดียวกับคนกรุงเทพฯ เพราะตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองต่างกัน วิธีการและความสามารถในการเข้าถึงอำนาจรัฐต่างกัน มีต้นทุนทางการเมืองและทางสังคม ไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ

“ไม่อยากให้มองว่า บ้านใหญ่ชนะเลือกตั้งเหมือนเดิม แปลว่าคนชลบุรีย่ำอยู่กับที่ หรือคนชลบุรีไม่พัฒนาเหมือนกรุงเทพฯ มันอธิบายแบบนั้นไม่ได้ ทายาททางการเมืองของบ้านใหญ่ก็ไม่เหมือนเดิม เขาปรับตัว วิธีการทำงานและภาพลักษณ์ ความสามารถของเขา skill set คนละแบบกับรุ่นพ่อ”

“ดังนั้นไม่ใช่ว่าคนชลบุรีไม่พัฒนา แต่อาจหมายถึงว่า skill set แบบนี้ ภาพลักษณ์แบบนี้ ตอบโจทย์คนชลบุรี ภายใต้เงื่อนไขของชลบุรี ให้กับคนจำนวนมากอยู่” อ.ชาลินี ทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง