รีเซต

เปรียบเทียบ Mikoyan MiG-29 และ F-16 Fighting Falcon มรดกยุคสงครามเย็น

เปรียบเทียบ Mikoyan MiG-29 และ F-16 Fighting Falcon มรดกยุคสงครามเย็น
TNN ช่อง16
3 กรกฎาคม 2565 ( 12:51 )
310

ในยุคสงครามเย็น เครื่องบินรบ F-16 Fighting Falcon และ Mikoyan MiG 29 เป็น 2 เครื่องบินสำคัญที่ขับเคี่ยวชิงชัยความเป็นหนึ่งโดยฝ่ายหนึ่งเป็นอาวุธจากโลกเสรี ในขณะที่อีกฝ่ายคืออาวุธที่ออกแบบมาเพื่อปราบเซียนจากหลังม่านเหล็กโดยเฉพาะ แม้ว่าจะหมดยุคสงครามเย็นมาหลายสิบปี แต่เครื่องบินทั้ง 2 รุ่นก็ยังคงออกปฏิบัติการในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและยังคงได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพและอาวุธมาอย่างต่อเนื่อง 


F-16 Fighting Falcon หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เอฟ 16 ผลิตโดยเจอเนรัล ไดนามิก (General Dynamics) ช่วงปี 1974 - 1993 ก่อนจะส่งต่อให้ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองบริษัทสร้างและส่งมอบเอฟ 16 ไปมากกว่า 4,604 ลำ และเนื่องจากเอฟ 16 มีหลากหลายรุ่นย่อยมาก จึงมีทั้งรุ่นที่มีลูกเรือ 1 คน และแบบลูกเรือ 2 คน มีเพดานการบินสูงสุด 50,000 ฟุต หรือ 15  กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 2.05 มัค หรือ 2,121 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถบินได้ไกลสุดอยู่ที่ 4,217 กิโลเมตร (ถังเชื้อเพลิงเสริม) เมื่อต่อถังเชื้อเพลิงภายนอก รองรับการติดตั้งจรวดรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจรวดอากาศสู่อากาศ สำหรับต่อสู้กับเครื่องบินรบด้วยกัน (Dogfight) เช่น จรวดไพธอน (Python) และจรวดทำลายเรือ ฮาร์พูน (Harpoon) และจรวดทำลายภาคพื้นดินอย่างมาร์เวอริค (Marverick) 


Mikoyan MiG-29 หรือที่เรารู้จักในชื่อมิก 29 เป็นเครื่องบินขับไล่ที่สหภาพโซเวียตสร้างขึ้นในอีก 8 ปีให้หลังจากที่เอฟ 16 ถือกำเนิด โดยถูกออกแบบให้ต่อสู้กับเอฟ 16 โดยเฉพาะ ปัจจุบันยังเหลือมิก 29 ประจำการทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 1,600 ลำ ตัวเครื่องเป็นเครื่องบินขับไล่แบบ 1 ที่นั่ง มีเพดานการบินสูงสุด 60,000 ฟุต หรือ 18 กิโลเมตร แต่ความเร็วสูงสุดที่อ้างว่าทำได้นั้นอยู่ที่ประมาณ 2,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเท่ากับ 2.25 มัค พิสัยการบินไกลสุดอยู่ที่ 2,100 กิโลเมตร (ถังเชื้อเพลิงเสริม) เมื่อติดตั้งถังเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเช่นกัน และเนื่องจากมิก 29 เป็นเครื่องบินขับไล่ ซึ่งต่างจากเอฟ 16 ที่ถูกสร้างเป็นเครื่องบินสำหรับการครองอากาศอเนกประสงค์ จึงทำให้จรวดที่ติดตั้งบนมิก 29 ส่วนใหญ่เป็นจรวดอากาศสู่อากาศ เช่น จรวดวิมเพล อาร์ 27 (Vympel R-27) หรือจรวดแบบไม่นำวิถี เช่น R-5 และ R-24 เป็นต้น


เครื่องบินรบทั้งสองรุ่นนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องอธิปไตยทางอากาศและยึดครองทางอากาศมาอย่างยาวนาน ทั้งคู่จึงเป็นหนึ่งในเครื่องบินรบยุคที่ 4 (Generation 4 Fighter) ไม่กี่รุ่นที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ยังคงประจำการเครื่องบินรบเอฟ 16 มากกว่า 1,245 ลำ ในปัจจุบัน โดยได้รับการปรับปรุงให้เป็น F-16V Block 70/72 ซึ่งถือเป็นเครื่องบินเอฟ 16 ที่ทันสมัยที่สุดในตอนนี้



ที่มาข้อมูล Airforce Technology, US Air Force, Wikipedia

ที่มารูปภาพ Wikipedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง